xs
xsm
sm
md
lg

เสนอประกาศ “อีโบลา” เป็นโรคติดต่ออันตราย เพิ่มอำนาจ จนท.ควบคุมโรค กักกันผู้ต้องสงสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส เสนอประกาศ “โรคอีโบลา” เป็นโรคติดต่ออันตราย จากเดิมที่มีอยู่ 5 โรค หวังเพิ่มมาตรการทางกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอำนาจในการควบคุมโรค กักกันผู้เข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วย

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่สถาบันราชประชาสมาสัย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 6/2557 เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาเข้าร่วม ว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งต้องให้ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสในการสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะสามารถออกประกาศได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า การประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้มีผลทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอำนาจและมั่นใจในการทำงาน เสริมไปจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่มีอยู่ คือสามารถกักกันผู้เข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วย หรือผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศได้ ซึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือผู้ที่มีไข้ 38.5 องศาเซลเซียส มีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง คือ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย มีอาการเข้าได้กับโรคอีโบลา มีประวัติสัมผัสโรค และเกล็ดเลือดต่ำ สามารถขอที่อยู่ติดต่อเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการได้จนครบ 21 วัน นอกจากนี้ ยังให้ใช้ชื่อโรคอย่างเป็นทางการว่า “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หรือ โรคอีโบลา” ไม่ใช้โรคไข้เลือดออกอีโบลา เพราะอาจทำให้สับสนกับโรคไข้เลือดออกที่มีหลายสายพันธุ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีช่วงระหว่างการฟักตัวของเชื้อ เมื่อมีเพศสัมพันธ์จะเป็นแพร่เชื้อหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เนื่องจากระยะการฟักตัวของโรค จะยังไม่มีอาการป่วย การมีเพศสัมพันธ์จึงไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ โดยอาการป่วยที่สังเกตเห็นได้ คือ มีไข้ อ่อนเพลีย อาเจียน มีเลือดออก และท้องเสีย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบทความจาก รพ.ศิริราช ระบุว่า เมื่อหายจากโรคอีโบลาแล้ว จะยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้อีก 1 - 2 เดือน เนื่องจากเชื้อยังอยู่ในเลือด น้ำเหลือง เป็นต้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เป็นลักษณะปกติของโรคติดเชื้อ ที่เมื่อรักษาอาการจนหายแล้ว จะยังมีเชื้ออยู่ในร่างกาย เช่น น้ำอสุจิ เป็นต้น

เมื่อถามถึงกระแสสังคมออนไลน์ที่มีการระบุว่า มีการใช้พลาสมาของผู้ที่หายจากโรคอีโบลาแล้ว มาฉีดให้แก่แพทย์ชาวอเมริกันที่ติดเชื้ออีโบลา นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการปกติที่ใช้กันอยู่ โดยการทำเป็นเซรุ่ม คล้ายการทำเซรุ่มแก้พิษงู โดยเลือดของคนที่เป็นโรคแล้วรักษาหาย จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การนำมาฉีดให้แก่ผู้ป่วยตามหลักแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทดลองใช้ในคน กรณีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ส่วนการจะพัฒนายาและวัคซีน ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะออกมาเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้ต้องรายงานกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทราบสถานการณ์โรคหรือไม่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปรายงานเรื่องนี้ต่อ คสช. ด้วยเอกสารถึงสถานการณ์โรคปกติ ว่า ไทยไม่พบเชื้อ และมีมาตรการในการควบคุมป้องกัน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป คร. กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เดิมทีกำหนดโรคติดต่ออันตราย 5 โรค คือ 1. อหิวาตกโรค 2. กาฬโรค 3. ไข้ทรพิษ 4. ไข้เหลือง และ 5. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการเสนอโรคอีโบลา เพราะยังไม่มีการระบาด แต่คราวนี้ที่ต้องมีการเสนอนั้น ก็เพื่อเตรียมความพร้อม จากการระบาดในพื้นที่ 3 ประเทศแอฟริกา

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น