ภาคประชาชน ยื่น 7 ข้อเสนอประธานบอร์ดกองสลากฯ จี้ปรับราคา - เพิ่มจำนวนรางวัล - ลดส่วนแบ่งเข้ากองสลาก รวมถึงเพิ่มส่วนแบ่งให้ผู้ค้าตัวจริง กระจายผ่านคลังจังหวัด แนะควรปฏิรูปเป็นกิจการสลากเพื่อสังคม สร้างต้นแบบการควบคุมปัญหาพนัน
วันนี้ (1 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กรมศุลกากร นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก พร้อมด้วย นายมณเฑียร บุญตัน ประธานกรรมาธิการศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย และเครือข่ายคนพิการ กว่า30 คน เข้าพบ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานบอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเสนอมาตรการหยุดปัญหาสลากเกินราคา และปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสลากเพื่อสังคม
นายธนากร กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางระยะสั้น 5 ข้อ ช่วยแก้ปัญหาสลากแพง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ค้าสลากรายย่อย ดังนี้ 1. ปรับราคาขายสลากให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง อาจจะเป็นใบละ 50 บาท หรือคู่ละ 100 บาทก็ได้ เนื่องจากราคาเดิมมีส่วนต่างกำไรให้แก่ผู้ค้ารายย่อยเพียงใบละ 5.60 บาท ซึ่งไม่เพียงพอแก่การยังชีพของผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับสลากไปขายเพียงจำนวนน้อย ขณะที่ในความเป็นจริงผู้บริโภคก็ซื้อสลากในราคาที่แพงกว่าคู่ละ 100 บาทอยู่แล้ว การปรับราคานี้อาจดูเหมือนทำให้ราคาแพงขึ้นในทางจิตวิทยา แต่ในความเป็นจริงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ค้ารายย่อย และผู้ซื้อ เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอ ประการที่ 2 คือ การจัดสรรให้จำนวนรางวัลให้มีมากขึ้น เพราะหากขายสลากใบละ 50 บาท จะทำให้เงินรางวัลเพิ่มขึ้น 300 ล้านบาท สามารถเพิ่มจำนวนรางวัลได้ เช่น เพิ่มการออกรางวัลที่ 4 และ 5 และรางวัลเลขท้าย 3 ตัวจากการหมุน 4 ครั้ง เป็น 6 ครั้ง ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้บรรดาหวยใต้ดินอยู่ลำบากด้วย เพราะผู้ซื้อมีโอกาสลุ้นได้มากกว่าจากจำนวนรางวัลที่เพิ่มขึ้น
3. ปรับลดค่าบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯ จากส่วนแบ่งร้อยละ3ของรายได้จากการขายสลาก ให้เหลือร้อยละ 2 แล้วนำเงินไปจัดสรรเพิ่มส่วนแบ่งให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย 4. นำเงินส่วนที่ปรับลดจากกองสลากมาเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้ผู้ค้าสลากรายย่อย จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 พร้อมจัดสรรโควตาให้ผู้ค้าสลากรายย่อยไม่น้อยกว่าคนละ 10 เล่มใหญ่ หรือ 20 เล่มเล็ก และ 5. ปรับกระบวนการจัดสรรโควตาให้ความสำคัญแก่คน 2 กลุ่ม คือ ผู้ค้ารายย่อยหรือประชาชนทั่วไป โดยเลือกกลุ่มผู้ยากลำบาก ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ไม่มีบำนาญ และผู้มีรายได้น้อย กับกลุ่มองค์กรการกุศล ที่มีกิจกรรมการค้าสลากจริง และปรับกระบวนการกระจายสลากโดยสำนักงานสลากฯเป็นผู้กระจายสลากเอง ไปทางสำนักงานคลังจังหวัด โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
“ข้อเสนอดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น หากยังไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เครือข่ายฯขอเสนอแนวทางระยะยาว คือ เปลี่ยนเป้าหมายออกสลาก จากเดิมหารายได้เข้ารัฐมาเป็นสลากเพื่อสังคม โดยนำเงินเข้ารัฐให้น้อยลงเหลือเพียง 10% เท่ากับภาษี แล้วนำเงินมาจัดสรรแก่กองทุนเพื่อภาคประชาสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงกองทุนพัฒนากีฬา และวัฒนธรรมด้วย ส่วนอีกประการคือแนวทางการดำเนินงานให้สำนักงานสลากเป็นกิจการต้นแบบของการควบคุมการพนัน”
นายธนากร ยังกล่าวด้วยว่า เครือข่ายฯไม่เห็นด้วยกับการมีรางวัลที่ 1 พิเศษ หรือรางวัลแจ็กพอต และเสนอให้ยกเลิกการออกรางวัลดังกล่าวเนื่องจากเข้าข่ายทำการตลาดเชิงรุก และเอื้อประโยชน์ให้กับพ่อค้าคนกลางในการจัดชุดสลาก สิ่งที่ควรทำคือ นำเงินจำนวนนี้เพิ่มให้กับรางวัลที่ 1 ของทุกชุด จากเดิมรางวัลละ 2 ล้านบาท เป็นรางวัลละ 3 ล้านบาท เพื่อให้เกิดระบบการจัดสรรรางวัลในแนวทางเดียวกับสลากบำรุงการกุศล การที่กองสลากออกมาให้ข่าวว่าการพิมพ์สลากเพิ่มอีก 2 ล้านใบ ในงวดวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะทำให้มีรางวัลแจ็กพอตมากขึ้น เป็นเจตนามอมเมาประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงจะไม่พูดถึงปัญหาของตนเอง ขณะเดียวกัน สิ่งที่กองสลากควรคิดทำคือปฏิรูปกิจการของตนเองให้โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังเช่น ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ทั้งนี้ เครือข่ายจะเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของกองสลาก และอยากให้มีการถกเถียงข้อเสนอข้างตน จากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่