xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ขึ้นแบล็กลิสต์-ประจานชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา หากตรวจพบวิทยานิพนธ์ที่ขึ้นรูปเล่มมีการคัดลอกผลงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กำจร” เตรียมเชิญ จุฬาฯ - มธ.- นิด้า ร่วมถกวางมาตรการป้องกันการลอกวิทยานิพนธ์ เผยจะให้ สกอ. เป็นศูนย์กลางรวบรวมวิทยานิพนธ์ให้มหา’ลัยมาตรวจสอบระหว่างการสอบเพื่อได้รู้ว่ามีการคัดลอกหรือไม่ ชี้หากพบวิทยานิพน์ใดที่ทำรูปเล่มแล้วแต่มีการลอกมาจะขึ้นแบล็กลิสต์อาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมประกาศชื่อประจานให้สังคมรับรู้ เล็งนำวิธีการสอบวิทยานิพนธ์แบบต่างประเทศมาใช้สอบนักศึกษา ป.เอก ด้วย

วันนี้ (17 ก.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นตนให้ความสำคัญกับ 3 คุณภาพ และ 1 ธรรมาภิบาล โดยคุณภาพแรก คือ คุณภาพการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษานอกที่ตั้ง ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยที่จัดการบริหารอย่างมีระบบและมีคุณภาพ และมหาวิทยาลัยที่จัดการบริหารไม่มีระบบและไม่มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเคยแก้ไขได้ผลมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ขณะนี้ก็พบว่าปัญหานี้กลับมาอีกครั้ง เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปจัดการ ดังนั้น จะเร่งผลัก ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... เพื่อนำมาเป็นกลไกที่เปิดทางให้ สกอ. เข้ามากำกับตรวจสอบได้ทันที รวมทั้งจะเร่งแก้ไขปัญหาคุณภาพอื่นๆ ทั้งคุณภาพอาจารย์ประจำหลักสูตร หรือที่มีการร้องเรียนใช้สิ่งของแลกเกรด การประเมินผลที่ไม่เป็นธรรม ต่อมา

2. คุณภาพหลักสูตร จะมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยตระหนักว่าต้องจัดหลักสูตรการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นตามความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยและตอบสนองความต้องการของประชาชนแบบที่ทำอยู่ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน จะเข้าไปปลดล็อกปัญหากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (ทีคิวเอฟ) เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่ออาจารย์และนักศึกษามากเกินไปด้วย นอกจากนี้ จะมีการทบทวนหลักสูตรต่อเนื่อง ที่ให้ผู้จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียนต่อจนจบปริญญาตรีเพื่อดึงดูดให้คนหันมาเลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น 3. คุณภาพบัณฑิตและนักศึกษา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดูแลตั้งแต่กระบวนการรับนักศึกษา โดยแต่ละปีมีผู้เข้าเรียนปีละ 4 แสนคนแต่ สกอ. มีข้อมูลเฉพาะผู้ที่สมัครผ่านระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชันกลาง ประมาณ 1 แสนคนเท่านั้น แต่อีก 3 แสนคนที่เข้าผ่านระบบรับตรงกลับไม่มีข้อมูลทั้งไม่รู้ด้วยว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเมื่อไร จำนวนเท่าไรและสอบกี่รอบ ซึ่งยืนยันว่าต้องการให้นักเรียนมีโอกาสหลากหลายเข้าเรียน แต่ต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเกินไปและเดินทางน้อยที่สุด อีกทั้งมหาวิทยาลัยต้องทบทวนตนเองในการรับนักศึกษาเพราะเวลานี้โครงสร้างประชากรวัยเรียนระดับปริญญาลดน้อยลง

ส่วนเรื่องบัณฑิตศึกษานั้น จากนี้ สกอ. จะเข้ามาดูแลหามาตรการที่เข้มข้นในการวัดประเมินบัณฑิต ป.โท และ เอก โดยเฉพาะปัญหาการคัดเลือกวิทยานิพนธ์ ซึ่ง สกอ. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่จะรวบรวมฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมาตรวจสอบก่อนการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ และเมื่อวิทยานิพนธ์พิมพ์ออกเป็นรูปเล่มแล้ว หากพบว่ามีการคัดลอกก็จะแบล็กลิสต์ หรือ ขึ้นบัญชีดำอาจารย์ที่ปรึกษา และประกาศให้สาธารณชนทราบด้วย สำหรับระดับปริญญาเอก การสอบเพื่อปกป้องวิทยานิพนธ์ จะเพิ่มมาตรการโดยใช้วิธีเหมือนต่างประเทศ ซึ่งเปิดสอบแบบสาธารณะ โดยให้นักวิชาการด้านต่างๆ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เข้ารับฟังการสอบด้วย ซึ่งนักศึกษาหากไม่เก่งจริงก็จะสอบผ่านลำบาก เพื่อให้ผู้จบปริญญาเอก มีคำว่า ดร. นำหน้าเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยเร็วๆ นี้ ผมจะเชิญมหาวิทยาลัยที่มีเครื่องมือตรวจสอบการคัดลอกวิทยานิพนธ์ ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มาประชุมเพื่อหามาตรการร่วมกันในการป้องกันการคัดลอกวิทยานิพนธ์ได้อย่างไรบ้าง”รศ.นพ.กำจร กล่าวและว่า ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล เนื่องจากเกิดปัญหาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งหากมี พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ก็จะมีอำนาจเข้าไปดูแล ซึ่งก็จะเข้าไปกำกับดูแลเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กกอ.

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น