xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ไทยเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานรับเออีซี เน้นสอบใบอนุญาตทำงาน 7 กลุ่มอาชีพเสรีก่อนนำเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชี้ไทยต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน แข่งขันเพื่อนบ้านต้อนรับเปิดประตูเออีซี บริหารการเคลื่อนย้ายแรงงานอาชีพเสรีเข้าไทย นำเข้าแรงงานตามความเหมาะสม เน้นสอบใบอนุญาตทำงานก่อน เล็งแก้กฎหมายเพื่อสะดวกในการจัดการ
 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานสัมมนา การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในบริบทอาเซียน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าว และแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้อยู่ไกลตัวคนไทย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งแรงงาน โดยได้มีการส่งแรงงานไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย มีจำนวนประมาณ 69,000 คน ส่วนแรงงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ทำ MOU กับประเทศลาว พม่า และ กัมพูชา นำเข้าแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการดูแลและคุ้มครองตามสิทธิมนุษยธรรมเป็นไปตามหลักสากล อีกทั้งได้เปิดให้มีการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ สามารถพิสูจน์สัญชาติได้แล้วจำนวนหนึ่งล้านสองแสนคน และปัจจุบันอยู่ระหว่างพิสูจน์ชาติอีกจำนวนมาก เพื่อให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิตามระบบประกันสังคม โดยสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่นี้ไม่ใช่การปฏิบัติตามปฏิญญาเซบู ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลแรงงานที่เข้ามาทำงานและประโยชน์ให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ ปี 2558 จะมีการเปิดเข้าสู่เออีซี ที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีใน 7 ประเภทอาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก พยาบาล และนักสำรวจนั้น แรงงานที่เข้ามาทำงานจะต้องมีการสอบใบอนุญาตทำงานก่อน และล่าสุดได้เพิ่มสายการท่องเที่ยว โดยครอบคลุม 32 สาขาอาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน จะต้องมีการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

 
  รองปลัด ก.แรงงาน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานะ จำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ สำหรับในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก และต้องนำเข้าแรงงานเป็นการเฉพาะ จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ว่า ต้องการแรงงานจำนวนเท่าไรถึงจะเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว และข้ามชาติ โดยได้ร่วมมือกับ ILO นำแนวการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) โดยให้นายจ้างต้องประกาศว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ใช้แรงงานที่ถูกต้องกฎหมาย และมีสวัสดิการต่างๆ

“กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ มองว่าแรงงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งขาเข้าและขาออก และเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตทั้งสิ้น การดำเนินการจะเน้นให้เป็นไปตามหลักของกฎหมาย รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีของประเทศเพื่อนบ้านด้วย” รองปลัด ก.แรงงาน กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น