xs
xsm
sm
md
lg

มอบส่วนราชการ 13 ประเทศ ปราบค้ามนุษย์ หวังแก้ภาพลักษณ์ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบนโยบาย หัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศ 14 แห่ง รวม 13 ประเทศ ร่วมเดินหน้าภารกิจป้องกัน - ปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งเสริมแนวปฏิบัติ GLP ในสถานประกอบกิจการ ตามนโยบาย คสช. แก้ภาพลักษณ์ประเทศพ้นข้อกล่าวหาค้ามนุษย์

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการอบรมหัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศ 14 แห่ง รวม 13 ประเทศ ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค และมอบนโยบายการปฏิบัติราชการแก่หัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศของกระทรวงแรงงาน พร้อมกล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดระดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยอยู่ในระดับ 3 กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้รายงานและเผยแพร่บัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ สำหรับสินค้าของไทยที่ถูกระบุว่าใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง อ้อย และใช้แรงงานบังคับ คือ สินค้าปลา และการตัดสิทธิ์ GSP ของสินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากสมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ยื่นเรื่องเพื่อรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 นั้น

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นแกนหลักในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการจัดทำแผน 5 ด้าน คือ 1. การดำเนินคดี เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม 2. การคุ้มครองช่วยเหลือ โดยการคัดแยกเหยื่อ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3. การป้องกัน เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เช่น การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การจัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมง การปรับปรุงกฎหมาย การนำมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) และส่งเสริมแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ซึ่งปีที่ผ่านมามีสถานประกอบการที่ผ่านการรับรองแล้ว 178 แห่ง โดยสามารถนำใบรับรองดังกล่าวแสดงให้คู่ค้าในต่างประเทศรับรู้ข้อเท็จจริงว่าไม่ได้มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อได้อีกด้วย 4. การขับเคลื่อนนโยบาย และ 5. ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี ตราด และ สุรินทร์ เพื่อออกใบอนุญาตชั่วคราวให้แรงงานกัมพูชาที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย การเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา จากนั้นได้เปิดศูนย์เพิ่มอีกใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรปราการ และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะสามารถรองรับแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนได้เฉลี่ยวันละกว่า 1,400 คน แต่ยังมีปัญหาในการออกบัตรที่มีข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากเครื่องออกบัตรสามารถออกบัตรได้จำนวนจำกัด อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในเร็วๆ นี้ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จจะเปิดได้ครบทุกจังหวัดที่เหลือ

นางวรรณพร ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในเกาหลีเป็นทั้งแหล่งกำเนิด ที่พักชั่วคราว และเป็นประเทศเป้าหมายที่มีการเดินทางเข้าไปทำงาน ซึ่งมีการบังคับให้ค้าประเวณีและบังคับเป็นแรงงานเถื่อน ส่วนมาตรการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เช่น จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือโดยให้การช่วยเหลือตามกฎหมาย การดำเนินคดีตามกฎหมายที่เข้มงวด การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟู จัดทำสายด่วน จัดที่พักฉุกเฉินให้แก่เหยื่อที่ถูกล่อลวงทางเพศ การประสานงานระหว่างหน่วยงานค่อนข้างรัดกุม เป็นต้น

ด้าน นางรติวัณณ สุนทรา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ไต้หวัน กล่าวว่า ในปี 2557 ไต้หวันได้รับการจัดอันดับการแก้ค้ามนุษย์ในระดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 โดยมาตรการที่ใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์ การเพิ่มโทษผู้กระทำผิด จัดตั้งศูนย์รองรับผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อโดยให้การจัดหาล่าม ช่วยสงเคราะห์เงิน จัดหางาน รักษาพยาบาล รวมถึงช่วยเหลือส่งกลับประเทศ จัดตั้งสายด่วนรับเรื่องร้องทุกข์ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติให้นายจ้างทราบ เป็นต้น

นางสาวฐินีพร วาจีสิทธ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า ปี 2012 - 2014 อิสราเอลได้รับการปรับอันดับเป็นระดับ 1 ซึ่งสภาพปัญหาส่วนใหญ่มีแรงงานต่างชาติทั้งชายหญิงเป็นแรงงานบังคับ และถูกค้าประเวณี โดยการแก้ไขปัญหานั้นรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายและลงโทษผู้ค้ามนุษย์ทั้งทางเพศ และแรงงานอย่างรุนแรง ฝึกอบรมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพิ่มจำนวนบ้านพักฉุกเฉินรวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้เสียหาย คัดแยก และคุ้มครองเหยื่อ เป็นต้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น