xs
xsm
sm
md
lg

ชง คสช.ปฏิรูประบบสาธารณสุข 3 ระยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาการสาธารณสุขชุมชนเสนอ คสช. ปฏิรูประบบสาธารณสุข 3 ระยะ เน้นกระจายอำนาจลงพื้นที่จัดการดูแลตัวเอง ลดความเหลื่อมล้ำสังคมสาธารณสุข จัดตั้งกองทุนสุขภาพเขตพื้นที่ พัฒนาระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน สร้างดุลยภาพระบบการแพทย์และการสาธารณสุข

วันนี้ (7 ก.ค.) นายไพศาล บางชวด เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า สภาฯได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมสาธารณสุขที่มีอยู่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องและสนับสนุนแนวทางการปรองดองเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยข้อเสนอจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ให้ คสช. กระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการและดูแลเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ควรยึดโยงกับวิธีการเดิมตามกรอบอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และโครงสร้างเชิงอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงการกำหนดสัดส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ผูกโยงกับงบประมาณรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย คสช. ต้องเร่งรัดให้ สธ. และ สปสช. ร่วมมือกันหาทางออกในการกระจายงบประมาณลงไปยังหน่วยงานและสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างเหมาะสม

นายไพศาล กล่าวอีกว่า ระยะที่สอง ให้ คสช. เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมสาธารณสุข การกำหนดกรอบความก้าวหน้าในตำแหน่งทางราชการสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไม่ควรจำกัดเฉพาะ รพ.สต. แห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น โดยอ้างอิงกรอบวงเงินและกรอบอัตรากำลังของ ก.พ. ที่มีจำกัดและเม็ดเงินงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และระยะที่สาม มาตรการระยะยาว ช่วงเวลานับจากนี้ถึง 3 ปี เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดย 1. ให้ คสช. สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 อย่างจริงจัง 2. ให้ คสช. และคณะรัฐบาลชุดใหม่ เร่งจัดให้มีการจัดตั้งและพัฒนากองทุนขึ้นมาใหม่ เป็นรูปแบบของกองทุนสุขภาพเขตพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของจำนวนประชากร ตั้งแต่จำนวน 150,000 - 200,000 คน โดยให้มีกลไกในการจัดการของพื้นที่แบบมีส่วนร่วม และให้มีองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล

นายไพศาล กล่าวด้วยว่า 3. ให้ คสช. หรือคณะรัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะหน่วยบริการขั้นปฐมภูมิ ที่มี รพ.สต. เกือบหนึ่งหมื่นแห่งทั่วประเทศมีผู้มาใช้บริการมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับหน่วยบริการในระดับที่สูงกว่า อีกทั้งควรมีการพิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในบางมาตราที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุข และระบบบริการสุขภาพ อาทิ มาตรา 5 สิทธิการรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และ มาตรา 9, 10, 11 และมาตรา 12 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ เป็นต้น และ 4. คสช. และคณะรัฐบาลชุดใหม่ ควรสนับสนุนจัดแยกส่วนระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือ Primary Care ทั้งระบบขนาดใหญ่ โดยมุ่งการทำงานในด้านหลักการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค การตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างดุลยภาพของระบบการแพทย์และการสาธารณสุข

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น