xs
xsm
sm
md
lg

สภาปฏิรูป ควรปฏิรูปอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลของการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาที่เด่นชัด คือ การขยายความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้าง เป็นต้นเหตุพื้นฐานของความแตกแยก ถูกยุยงได้ง่าย เปราะบาง และนำไปสู่ความรุนแรง เป้าหมายการพัฒนาต้องสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดย 1) ลดอำนาจการบริหารจัดการราชการส่วนกลาง เหลือเพียงภารกิจหลักเท่าที่จำเป็น การกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น และให้ชุมชนและประชาชนสามารถตัดสินใจ กำหนดทิศทางการพัฒนา มีการบริหารจัดการชุมชนของตนเองร่วมกับหน่วยงานและภาคีต่างๆ 2) ให้ความสำคัญกับ “สิทธิชุมชน” การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการและการได้รับประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และ 3) เสริมพลังอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ

ข้อเสนอข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่ได้พูดคุยผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 6 วันที่ 16-17 มิถุนายน ที่ผ่านมา ภายใต้ระเบียบวาระ “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย”

ประเทศไทยได้พัฒนาและปฏิรูประบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สุขภาวะ มากว่า 40 ปี แล้ว อาทิ แนวคิดสาธารณสุขมูลฐานที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการสาธารณสุข การปรับระบบการเงินการคลังเพื่อสุขภาพโดยจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การปรับปรุงระบบการอภิบาลระบบสุขภาพโดยออกกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2550 การถ่ายโอนสถานีอนามัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และล่าสุดในปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขปรับบทบาทหน้าที่และโครงสร้างภายใน มีการจัดเขตบริการสาธารณสุข เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เดียวกัน

นอกจากนี้ ในปี 2553 มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูปกำหนดให้มี “คณะกรรมการปฏิรูป” และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายรองรับการปฏิรูปประเทศไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดตั้ง “สำนักงานปฏิรูป” ขึ้นทำหน้าที่หน่วยเลขานุการ มีระยะเวลาทำงาน 3 ปี (ก.ค.53 - มิ.ย.56) มีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายรวม 18 เรื่อง สนับสนุนการจัดสมัชชาปฏิรูปในระดับพื้นที่กว่า 100 เวที มีผู้เข้าร่วมรวมประมาณ 30,000 คน

มีการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ 3 ครั้ง ในจำนวนนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเห็นว่าเรื่องสำคัญที่หากสามารถดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็วจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดเงื่อนไขความขัดแย้งได้ มี 3 ประเด็น ได้แก่

  - กระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ชุมชนท้องถิ่น

  - ให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น

   - เสริมพลังพลเมืองให้มีส่วนร่วมทางการเมือง

ปัญหาจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ รุมเร้าส่งผลทำให้เกิดวิกฤตในระดับต่างๆ คนรวย คนใกล้ศูนย์กลางอำนาจอาจจะเอาตัวรอดได้ แต่จะปล่อยให้คนส่วนใหญ่สังคมยากจน ขัดสน น้อยใจกับความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงย่อมปะทุได้โดยง่าย

การกระจายความมั่งคั่ง กระจายความสุข โดยการกระจายอำนาจ จึงจะเป็นคำตอบ
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น