xs
xsm
sm
md
lg

ทำไกด์ไลน์ป้องกันค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน จับมือไอแอลโอ ทำแนวปฏิบัติ ป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ มีสถานประกอบการประมง-อาหารทะเล เข้าร่วมเกือบ 200 แห่ง เตรียมขยายเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงต่างด้าว 3 สัญชาติอีก 7 จังหวัด 7 ก.ค. นี้

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังหารือกับนายมอริซิโอ บุสสิ (Mr.Maurizio Bussi) ผอ.สำนักงานไอแอลโอ ในเขตภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ว่า นายมอริซิโอ นำคณะมาพูดคุยเพราะเป็นห่วงที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาปรับลดสถานะให้เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ระดับ 3 ส่งผลให้สินค้าไทยที่ถูกระบุว่าใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ คือ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง อ้อย ปลา ได้รับผลกระทบโดยให้คำยืนยันว่าไอแอลโอยังคงช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับไทยดังที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งกระทรวงแรงงานมีแนวทางในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลนำ ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาและเป็นกลไกตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าโดยนำการจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice : GLP) มาใช้ในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล เพื่อรับรองการผลิตว่าปลอดจากแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก แล้วนำมาตรฐานไปแสดงกับคู่สัญญาว่าไทยไม่มีแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก

นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาสนับสนุนงบประมาณผ่านทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ร่วมกับกระทรวงแรงงานไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ GLP เป็นเครื่องมือให้ต่างประเทศเห็นความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา การจัดทำร่างแนวปฏิบัติ GLP ได้ออกข้อปฏิบัติบนพื้นฐานของกฎหมายและมาตรฐานแรงงานโดยเน้นสิทธิแรงงานและอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศมุ่งประเด็นสำคัญ เช่น ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีแรงงานบังคับ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีการค้ามนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองรวมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแนวปฏิบัติส่วนแรกเป็นการจัดทำ GLP 4 ฉบับ ใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ กุ้งและอาหารทะเลและกลุ่มประมง หรือเรือประมงทะเลของไทย โดยมีผู้ประกอบการแปรรูปและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการ GLP ไปแล้ว 178 แห่ง และจะได้ใบรับรองจากกระทรวงแรงงานว่ามีการปฏิบัติที่ดีเพื่อแสดงกับคู่ค้าในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงให้เรือประมงทะเลที่มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 1 คน ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อลูกจ้าง ทำสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จหรือศูนย์วันสตอปเซอร์วิส เพิ่มอีก 7 แห่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ระยอง สุราษฎร์ธานี และ สงขลา โดยจะเปิดให้บริการพร้อมกันทั้ง 7 ศูนย์ ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ โดยศูนย์แรกที่เปิดใน จ.สมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวเข้ามายื่นจดทะเบียนวันละประมาณ 2,000 คน เจ้าหน้าที่ต้องเปิดให้บริการเที่ยงคืน ส่วนศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานในประเทศตามแนวชายแดน 4 แห่ง ที่มองว่ามีแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาไม่มากนั้นเนื่องจากมีปัญหาจากการที่ต้องรอพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางจากประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าว

ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการ เปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จ.สมุทรสาคร ว่า ยอดในวันแรกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีนายจ้างนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เข้ามาจดทะเบียน 1,924 คน ส่วนในวันที่ 1 ก.ค. มีจำนวน1,042 คน แบ่งเป็นสัญชาติ พม่า 574 คน ลาว 147 คน และกัมพูชา 321คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดตาม 44 คน เป็นสัญชาติพม่า 7 คน ลาว 7 คน และกัมพูชา 30 คน รวม 2 วัน มีนายจ้างพาแรงงานมาขึ้นทะเบียนแล้ว 2,966 คน ส่วนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ศูนย์ตามแนวชายแดน 4 แห่ง ในจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด และ สุรินทร์ มีแรงงานกัมพูชาเข้ามาลงทะเบียน 3,713 คน แต่ออกใบอนุญาตได้ 3,091 คน เนื่องจากยังมีปัญหาที่พาสปอร์ตส่งให้ล่าช้า แต่ภาพรวมใน 4 ศูนย์ถือว่าทำได้ตามเป้าหมาย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น