xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ไฟเขียวงบปี 58 ของ ศธ.สูงกว่า 5.04 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คสช. ไฟเขียวงบปี 58 ศธ. วงเงินกว่า 5.04 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ “กำจร” เผยแม้ถูกหั่นงบลดลงแต่เชื่อไร้ปัญหา พร้อมเตรียมผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อุดมฯ หวังให้ กกอ. มีอำนาจดูแลอุดมมากขึ้น

วันนี้ (30 มิ.ย.) นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ของ ศธ. วงเงินรวมทั้งสิ้น 504,160 ล้านบาทเศษ โดยสูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2557 จำนวน 21,372 ล้านบาทเศษ หรือเพิ่มขึ้น 4.43% จำแนกเป็น สำนักงาน ปลัด ศธ. จำนวน 54,760 ล้านบาทเศษ ลดลงจากปีงบฯ 57 จำนวน 1.38% สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 250 ล้านบาทเศษ ลดลงจากปีงบ 57 จำนวน 5.73% สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 311,774 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้น 1.49% สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 21,105 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้น 1.60% สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 112,650 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้น 18.02% หน่วยงานในกำกับ และองค์การมหาชน 3,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.74% โดยหน่วยงานในกำกับฯ ที่ถูกปรับลดงบฯ คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ลดลง 8.59% และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ลดลง 0.04%

ทั้งนี้ สำนักงบฯ ได้กำหนดกรอบวงเงินปีงบ 58 ให้ ศธ. ไว้อยู่ที่ 496,699 ล้านบาทเศษ แต่หลังจากที่ได้มีการชี้แจงกับหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ก็สามารถปรับวงเงินเพิ่มเติมได้ 7,461 ล้านบาทเศษ หรือประมาณ 1% โดยงบ จำนวนนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มในส่วนของ สกอ. 4,473 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะลงไปที่สถาบันอุดมศึกษา 80 แห่ง สพฐ. 1,500 ล้านบาทเศษ และ สอศ. 956 ล้านบาทเศษ โดยขณะนี้ ศธ. ได้จัดส่งคำของบฯ ปี 58 ให้สำนักงบประมาณแล้ว

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ สกอ. ถูกปรับลด จากเดิมที่ขอไป 185,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 95% เหลือ 112,650 ล้านบาทนั้น คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลมีรายได้เข้ามาน้อย และในปีที่ผ่านมามีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งทาง สกอ. ต้องไปจัดสรรและเร่งดำเนินการในโครงการเร่งด่วนก่อน ส่วนโครงการอะไรที่ไม่เร่งด่วก็คงต้องชะลอไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรับตำแหน่ง เลขาธิการ กกอ. มีหลายเรื่องที่จะต้องกลับมาทบทวนใหม่ โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นนโยบายหลัก รวมถึงคุณภาพหลักสูตร และคุณภาพนิสิต นักศึกษาด้วย ส่วนการแยกเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัยนั้น มองว่ายังมีข้อจำกัดพอสมควร ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอุดมศึกษา คือ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา เพื่อให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีอำนาจในการกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น