สอศ. ดึง กอ.รมน. เข้าช่วยเคลียร์ปัญหาเด็กช่างทะเลาะวิวาท รองเลขาธิการ กอศ. ชี้ต้องใช้ยาแรงโดยเฉพาะจุดวิกฤตต้องใช้กำลังทหารมาช่วยเสริม ร.ร. และ ตร. ควบคุมสถานการณ์ เผยเตรียมปรับโซนพื้นที่เสี่ยงใหม่ และขอความร่วมมือสถานศึกษาอาชีวะ รัฐ - เอกชน ในกลุ่มเสี่ยงส่งรายชื่อหัวโจกที่ชอบยุยงและเป็นแบ็กอัพจัดหาอาวุธ มาให้เลขาธิการ กอศ.- เลขาธิการ กช. เพื่อส่งต่อไปยัง กอ.รมน. จัดการตามเหมาะสม
วันนี้ (26 มิ.ย.) นายประดิษฐ์ ระสิตานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยภายหลังประชุมการเฝ้าระวังและป้องปรามนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนกลุ่มเสี่ยง 18 แห่ง ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันหาแนวทางการป้องกันการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาของประเทศและส่งผลต่อการพัฒนากำลังคน และเพื่อสนองนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้มีการสร้างความปรองดองและความสามัคคีของกลุ่มคนทุกระดับ ที่ประชุมเห็นว่าต้องปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและป้องปรามใหม่เพื่อให้การทำงานได้ผลมากขึ้น โดยจะขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามาร่วมดูแลโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่มีปัญหาวิกฤตมาก ดังนั้น จะมีการปรับโซนพื้นที่เสี่ยงใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่การดูแล ของ กอ.รมน. ด้วย
นอกจากนี้ ให้สถานศึกษากลุ่มเสี่ยงจัดทำรายชื่อศิษย์เก่าและบุคคลภายนอกที่มีอิทธิพล มีพฤติกรรมยุยง ส่งเสริม หรือจัดเตรียมอาวุธให้กับนักเรียน นักศึกษาไปก่อเหตุ ซึ่งเกินกำลังที่สถานศึกษาจะดำเนินการหรือควบคุมได้ จัดส่งให้กับเลขาธิการ กอศ. และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เพื่อตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯและส่งมอบต่อ กอ.รมน. ให้ช่วยเข้ามาดูแลและพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความสงบได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งขอให้สถานศึกษาจัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ ที่มีการโพสต์ข้อความที่ยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดปัญหาและหากพบให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสั่งปิดต่อไป
“ปัญหานี้เรื้อรังมานานต้องใช้ยาแรงตัวใหม่เข้าไปช่วยแก้ โดยดึงทหารเข้ามาช่วยเสริมจากเดิมที่สถานศึกษาและตำรวจดูแลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นจุดวิกฤต อย่างที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้ทางทหารเรือเข้าไปควบคุมดูแล ส่วนการสั่งปิดสถานศึกษาที่ก่อเหตุหรือไล่เด็กที่ก่อเหตุออกนั้น ผมมองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จ เพราะเด็กก็จะไปก่อปัญหาสังคมอีก ดังนั้น ต้องใช้การศึกษาช่วยปรับพฤติกรรมเด็กให้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมที่ดีได้” นายประดิษฐ์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่