xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้าบำบัดผู้ติดยา 3 แสนราย สธ.เผยคนฮิตเสพยาบ้ามากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ตั้งเป้าบำบัดผู้ติดยาเสพติด 3 แสนคน หลังพบการระบาดน่าห่วง เผยคนยังฮิตเสพยาบ้ามากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ระบุ 61% เป็นผู้เสพที่ยังไม่ติด

วันนี้ (26 มิ.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังร่วมพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 43 จำนวน 3,094 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 8,867 ล้านบาท ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า แนวโน้มการระบาดของยาเสพติดในไทยอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง การแก้ปัญหาและบำบัดผู้เสพจึงเป็นงานเร่งด่วน โดยปีนี้ตั้งเป้าบำบัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน จากที่สำนักงาน ป.ป.ส. คาดว่า มีผู้เสพยาเสพติดมากกว่า 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ สธ. จึงทำมาตรการเร่งให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 30 วัน โดยเน้นการบำบัด ฟื้นฟู และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น เตรียมพร้อมหน่วยบำบัดให้ผู้เสพติดเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล พัฒนาศักยภาพ อสม. เฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน เป็นต้น

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในปีงบประมาณ 2556 นำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาได้ 4.8 แสนกว่าคน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน ส่วนปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 - 15 มิ.ย. 2557 มีผู้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศ รวม 150,517 คน โดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 97,713 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 39,628 คน และในระบบต้องโทษ 13,176 คน กลุ่มผู้เสพยาเสพติดหลักที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 45 เป็นกลุ่มอายุระหว่าง 15 - 24 ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ว่างงานและเกษตรกร ทั้งนี้ เป็นผู้เข้าบำบัดรายใหม่ร้อยละ 68 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15 - 24 ปีเช่นกัน โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 61 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 36 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 3

ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาบ้า ร้อยละ 87 กัญชา ร้อยละ 4.5 และยาไอซ์ ร้อยละ 3.7 ลักษณะการใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่จะใช้ยาเสพติดชนิดเดียวมากที่สุดคือร้อยละ 85 เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการใช้ยาเสพติดมากกว่า 1 ชนิด ร้อยละ 15 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่พบร้อยละ 11 และการเสพติดอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 3 ส่งผลให้การบำบัดรักษามีความยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น” ปลัด สธ. กล่าว

ทั้งนี้ สถานการณ์ยาเสพติดระดับโลก องค์การสหประชาชาติ รายงานล่าสุดในปี 2552 ประชากรโลกใช้สารเสพติด 172 - 250 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2533 - 2542 ประมาณ 7 เท่าตัว โดยเป็นผู้เสพติด 18 - 38 ล้านคน การเสพยาเสพติดจัดเป็น 1 ใน 20 ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั่วโลก เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ตับอักเสบ และวัณโรค โดยมีผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติด และติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 2.8 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 8 ล้านคน แต่ละปีมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเสพติด 104,000 - 263,000 คน อายุระหว่าง 15 - 64 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการเสพติดเกินขนาด

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น