xs
xsm
sm
md
lg

เด็กใต้เรียนต่อ ม.ปลาย น้อย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตั้งแต่ประถม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ. เตรียมจัดทำโรดแมปพัฒนาการศึกษาใต้ เสนอฝ่ายสังคมจิตวิทยา ขณะที่ ผลสำรวจการศึกษาใต้พบ นร. เข้าเรียนต่อน้อย ส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มาตั้งแต่ระดับประถม

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบนโยบายในการประชุมผู้บริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้บริหารสถานศึกษาทุกสังกัด สำนักงานศึกษาธิการภาค ผู้ตรวจราชการ และเขตพื้นที่การศึกษา และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 จำนวน 350 คนเข้าร่วม ว่า ในภาคใต้ยังพบปัญหาทางการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะเมื่อดูจากคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ที่พบว่าค่อนข้างต่ำ ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่นิยมเรียนทางด้านศาสนาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เมื่อเรียนจบก็มีปัญหาไม่สามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือต้องไปเรียนในประเทศที่สอนศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ ดังนั้น ที่ผ่านมา ทางศธ. ได้มอบหมายให้ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปจัดการเรียนการสอนวิชาสามัญเพิ่มเข้าไปตามสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อให้เด็กสามารถเทียบวุฒเพื่อใช้ในการเรียนต่อได้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็เข้ามาจัดการเรียนการสอนในสายอาชีวศึกษา สายอาชีพ ซึ่งทำให้เด็กมีทั้งความรู้พื้นฐานและวิชาชีพติดตัว อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ผู้บริหารทุกท่านเสนอปัญหาในการจัดการศึกษาและแนวทางแก้ไขที่ต้องการให้ดำเนินการ โดย ศธ. จะรวบรวมปัญหาต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์เสนอฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาต่อไป

ด้าน นายพีระศักดิ์ รัตนะ ผู้อำนวยสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 12 (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) กล่าวว่า ศธภ.12 ได้ทำการสำรวจข้อมูลอัตราการเรียนต่อของประชากรในวัยเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (สะบ้าย้อย, เทพา, นาทวี และจะนะ) พบว่า อัตราการเข้าเรียนยังไม่น่าพอใจในทุกระดับชั้น แม้ว่าในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีอัตราการเข้าเรียนที่น่าพอใจ แต่เมื่อพอถึงระดับ ม.ปลาย อัตราการเข้าเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในพื้นที่จะมีประชากรอายุ 4 - 6 ปี ในระดับปฐมวัย จำนวน 105,372 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว 78,874 คน หรือร้อยละ 74.85 ประชากรอายุ 7 - 12 ปี ในระดับประถมศึกษา มี 205,907 คน เข้าสู่ระบบฯ 204,083 หรือ ร้อยละ 99.11 ประชากรอายุ 13 - 15 ปี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 105,703 คน เข้าสู่ระบบฯ 103,689 หรือร้อยละ 98.90 ประชากรอายุ 16 - 18 ปี ในระดับ ม.ปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 107,903 คน เข้าสู่ระบบฯ ระดับ ม.ปลาย ในพื้นที่ 68,742 คน หรือร้อยละ 63.71 และเข้าสู่ระบบระดับ ปวช. ในพื้นที่ 4,609 คน หรือร้อยละ 4.27 รวมทั้งหมดร้อยละ 67.98 คน ไม่นับรวมเด็กที่ออกไปเรียนต่อนอกพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนระดับอุดมศึกษามีประชากรวัยนี้อยู่ 139,380 คน เรียนต่อ ปวส. ในพื้นที่ 4,339 คน หรือร้อยละ 3.11 เรียนต่ออุดมศึกษาในพื้นที่ประมาณ 20,000 คน หรือประมาณร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม มีเด็กจำนวนมากไปเรียนต่ออุดมศึกษานอกพื้นที่ หรือเรียนต่อที่ และพบว่ามีนักเรียนในพื้นที่ประมาณ 37,000 คน เรียนสถาบันศึกษาปอเนาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเรียนโรงเรียนสามัญในช่วงกลางวัน และมาเรียนศาสนาช่วงกลางคืน

เด็กที่ไม่เรียนต่อ ม.ปลาย นั้น เพราะเด็กมีพื้นฐานการเรียนตั้งแต่วัยประถมศึกษาที่ไม่เข้มแข็ง มีปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทย เมื่อเรียนในระดับสูงขึ้น เด็กต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียน ทำให้ส่วนหนึ่งเลือกออกไปช่วยผู้ปกครองทำงาน บางส่วนอยู่บ้าน หรือเลือกเรียนต่อกับ กศน. และสถาบันศึกษาปอเนาะแทน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่คือ ปัญหาการออกกลางคันในพื้นที่ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษา แม้ตัวเลขเข้าเรียนจะน่าพอใจ แต่ไม่สามารถทำให้เด็กคงอยู่จนจบได้ เพราะฉะนั้น การปูพื้นทางให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ประถมศึกษา จะช่วยทำให้เขาคงอยู่ในระบบ” นายพีระศักดิ์ กล่าว

นายพีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญในพื้นที่อีกอย่าง คือ อัตราการขาดเรียนค่อนข้างสูง จากการสุ่มสำรวจโรงเรียนรัฐ 4 โรงใน จ.นราธิวาส เป็นเวลา 13 วัน พบว่า เด็กหมุนเวียนขาดเรียนทุกโรงเรียนและทุกวัน มีเพียงวันเดียวที่ไม่มีเด็กขาดเรียนในโรงเรียน 1 โรง แต่วันอื่นๆ ขาดเรียนในอัตราสูง จากจำนวนชั้นเรียน 30 คน บางวันขาดเรียนถึง 15 คน ส่วนใหญ่จะขาดเรียนไม่ต่ำกว่า 3 - 4 คนต่อโรง ทั้งนี้ เพราะนักเรียนตามผู้ปกครองไปทำกิจกรรมทางสังคม หรือตามผู้ปกครองไปทำงาน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ปกครองยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควร เมื่อรวมกับการที่โรงเรียนต้องปิดเรียนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอีก ยังทำให้นักเรียนได้เรียนไปไม่เต็มที่ นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำ

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น