นักวิชาการจี้พัฒนาคน เดินหน้าปฏิรูป อดีต รมช.ศึกษาฯ จวกการเมืองแทรกการศึกษาผ่านครู ขาดคนรับผิดชอบ ไร้
ระบบตรวจสอบ
วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการเสวนาทางวิชาการชุด “8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เรื่อง “วิกฤตการศึกษาไทย...ปฏิรรูปอย่างไรให้ตอบโจทย์” โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูปมาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาไทยยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีการพูดถึงการร่วมปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งตนมองว่าการปฏิรูปด้านไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการปฏิรูปคนเพราะคนเป็นปัจจัยชี้ขาดหากสามารถปฏิรูปคนได้ การปฏิรูปอื่นๆ ก็ทำได้สำเร็จ
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการเสวนาวิชาการตอนหนึ่ง ว่า
โจทย์สำคัญ คือ จะใช้งบประมาณที่ได้รับกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมากอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาและสร้างคนที่มีคุณภาพอย่างตรงจุด แต่ที่ผ่านมาการศึกษาของไทยอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการศึกษาของผู้ที่อยู่ในชนบท เพราะคนไทยขาดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาซึ่งปัญหามาจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุแรก คือ การปล่อยให้ปล่อยให้การเมืองอยู่ในการศึกษา เช่นไม่นานมานี้มีความพยายามตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคครูไทย” หรือที่ผ่านมาไม่ว่าครูจะเรียกร้องสิ่งใดก็จะได้รับการตามใจนั่นเพราะครูนั้นมีอิทธิพลต่อการเมือง เพราะ 75% ของงบประมาณเป็นเงินเดือนของครู รัฐมนตรีก็มาจากคนที่เป็นครูทำให้การบริหารไม่ออกนอกกรอบ และการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยๆ ก็ทำให้เป้าหมายเปลี่ยนไปการจัดการศึกษาไทยก็อ่อนแอ ไม่มีเป้าหมายปฏิรูปที่ชัดเจนจึงขาดความมุ่งมั่นที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในประเด็นนี้ต้องโทษทุกคนที่ไม่มีการเรียกร้องเป้าหมายที่ชัดเจน
อีกสาเหตุหนึ่งคือการบริหารจัดการที่ขาดความรับผิดรับชอบ เพราะไม่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารก็ยังได้เลื่อนสองขั้น ได้สายสะพาย ครูก็ได้เลื่อนตำแหน่ง แต่กลับไม่มีใครรับผิดชอบต่อผลการเรียนของเด็กที่ตกต่ำ ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ไม่มีการตรวจสอบว่างบประมาณที่จัดสรรไปยังโรงเรียนถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองและต่างจังหวัด เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพของโรงเรียนในเมืองและต่างจังหวัด
“อยากเสนอว่าจากนี้คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้ เด็กต้องเข้ามามีบทบาท งบประมาณจะต้องถึงเด็กและโรงเรียน และต้องบริหารจัดการควบรวมโรงเรียนที่มีขนาดเล็กเกินไปเพราะขณะนี้อัตราการเกิดลดลง นอกจากนี้ปัจจุบันครูส่วนอายุระหว่าง 50-60 ปี ถึง 40% ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าครูเหล่านี้ก็จะเกษียณ ดังนั้น การจะคัดเลือกครูครั้งต่อไปจะต้องคัดเลือกคนดีมาเป็นครูเพื่อพัฒนาการศึกษาไม่เช่นนั้นจะต้องทุกข์ทรมานกับการศึกษาที่ล้มเหลวไปอีกนานส่วนการปฏิรูปการศึกษาก็จะต้องความจริงใจที่จะร่วมกันพัฒนาเลือกคนที่คิดเป็นมาพัฒนาการศึกษา” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการใหญ่ดรุณสิกขาลัย กล่าวว่า เรามี พ.ร.บ.การศึกษามาแต่ปี 2542 ซึ่งใช้มาเป็นระยะเวลา 15 ปีแต่ยังย่อหย่อนในการใช้กฎหมายการศึกษา ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ดีดังนั้นจะต้องนำกลับมาใช้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เวลานี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำลังศึกษาเรื่องการพัฒนากำลังคน ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นตนจะนำเสนอขอให้ผลักดันประเด็นการพัฒนากำลังคนและประกาศเป็นวาระแห่งชาติด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่