xs
xsm
sm
md
lg

สุดฮิต “แชตเพื่อแชร์การบ้าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โลกยุคที่ข้อมูลข่าวสารขับเคลื่อนรวดเร็ว การสื่อสารผ่าน Smart Phone อุปกรณ์ที่ทำได้มากกว่าคุยกันทางไกลแบบที่มือถือสมัยก่อนเอื้ออำนวยประโยชน์ ด้วยระบบดิจิตอลที่สามารถเปิดโลกการเรียนรู้ผ่าน Application ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตามสาระประโยชน์นี้อาจมาพร้อมกับ “ภัยเงียบ” ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของวัยรุ่น วัยที่อยู่ในช่วงเปิดรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต

ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ บมจ.ซีพี ออลล์ ตามนโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ของบริษัท ได้เผยผลงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “การใช้สื่อสังคม (Social Media) ของวัยรุ่นเพื่อการเรียนรู้การดำรงชีวิต” โดยมี รศ.ดร. กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ในกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 14-16 ปี ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 101 คน ใน 3 ประเด็นหลัก ตั้งแต่เรื่องวิถีชีวิต พฤติกรรมการใช้สื่อ ตลอดจนการเรียนรู้ทางสังคม

“ติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมทุกครั้งที่ว่าง” ประเด็นแรกที่ได้ผลสรุปจากการเรียนรู้วิถีชีวิต ของวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่ทั้งกรุงเทพใช้เวลาสื่อสาร หรือ “แชต” บน Social Media เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และสูงสุดคือ 16 ชั่วโมง ส่วนต่างจังหวัดใช้เวลาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง และสูงสุด 12 ชั่วโมง ในแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจของการสื่อสารออนไลน์ที่พบ คือ การส่งเสริมการเรียนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ครูกับลูกศิษย์” ซึ่งสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาท ช่วยเรื่องการติว การสอนเสริมเพิ่มเติมจากห้องเรียน การสอดส่องดูแลพฤติกรรม

“ห้องแชร์การบ้าน” อีกหน้าต่างหนึ่งบนโลกออนไลน์ที่สามารถทำให้ทักษะการเรียน การเข้าสังคม ได้สะท้อนถึงภาพพฤติกรรมการเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ของวัยรุ่นยุคใหม่ เด็กๆ เหล่านี้สามารถเลือกรับเนื้อหาและกำหนดองค์ความรู้ที่อยากจะศึกษาหรือถ่ายทอดได้โดยง่าย ทั้งครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนจะได้ร่วมกัน ถาม-ตอบ ผ่านเครื่องมือสื่อสาร ได้หลากหลายวิธี อาทิ ส่งการบ้านผ่านกลุ่มไลน์, มีห้องเฉพาะในเฟซบุ๊กในการติวหรือเก็งข้อสอบ ในวิชาสำคัญๆ เช่น คณิตศาสตร์ , อังกฤษ และ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

“ทักษะการเรียนเมื่อผนวกกับการสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็นนี้สังเกตได้ว่า คนเก่งและมีความเชี่ยวชาญในวิชาต่างๆ จะมีความสุขในการสรุปประเด็นสำคัญที่ครูสอน แล้วนำมาโพสต์ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนได้เอาไปแชร์ต่อๆกัน” รศ.ดร. กุลทิพย์กล่าว

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมการเรียนจากในสมัยก่อน ซึ่งนักเรียนที่ได้คะแนนดี เรียนเก่งมักจะหวงวิชา ไม่ต้องการแบ่งปัน แต่ในปัจจุบันขณะที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลได้สร้างบทบาทที่เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมการเรียนรู้ในสื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนยุคนี้เปลี่ยนไป เกิดวัฒนธรรมของการ “แบ่งปัน” หรือ Sharing Culture ในวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องการเรียน ทำให้การแบ่งปัน หรือ แชร์เป็นเรื่องปกติ

การเกิดพฤติกรรมคนชอบแชร์ จึงเป็น “ต้นทาง” ที่สร้างความสุขให้ผู้โพสต์ข้อความอยากเผยแพร่ และรู้สึกภูมิใจ เมื่อมีคนกดไลค์บนหน้าเพจของตนเองเยอะๆ หรือได้รับการแสดงความคิดเห็น ชื่นชม เป็นจำนวนมาก นี่จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของการเรียนรู้ในสังคมออนไลน์ ในทางบวกที่ทำให้วัยรุ่นเกิดจิตสำนึกของการให้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ ก็ต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านการลอกเรียนแบบ หรือ พฤติกรรมประเภท รอรับ - รอลอก ข้อมูลจากเพื่อนอย่างเดียว... นี่จึงเป็นเสมือนภัยเงียบที่ เพราะเป็นการสร้างนิสัยการศึกษาเรียนรู้แบบผิดๆให้เกิดขึ้นกับเยาวชนซึ่งจะเติบโตไปเป็นบุคคลากรของประเทศในอนาคต

“ผู้ใหญ่จึงควรเข้าไปสัมผัสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตออนไลน์ของวัยรุ่น เข้าใจ และให้คุณค่า พร้อมทั้งเรียนรู้ปรับตัวและเตรียมพร้อมรับการอยู่ร่วมของวัยรุ่นกับโลกออนไลน์ ด้วยการเปิดใจให้กว้างมองพื้นที่ออนไลน์เปรียบเสมือนอีกเวที ให้วัยรุ่นได้แสดงศักยภาพ สร้างทักษะประสบการณ์และสร้างตัวตนในสังคมออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย” รศ.ดร. กุลทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น