xs
xsm
sm
md
lg

แนะเปลี่ยน “เหยื่อ” เป็น “ผู้กอบกู้” ช่วยพ้นวิกฤตภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตแนะผู้ประสบภัยพลิกวิกฤต เปลี่ยนจาก “เหยื่อ” เป็น “ผู้กอบกู้” โดยผนึกกำลังชุมชน เป็นยาดีช่วยให้เกิดความเข้มแข็ง ผ่านเรื่องร้ายไปสู่เรื่องดี

วันนี้ (29 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวพื้นที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย บางส่วนยังมีอาการผวา ตกใจง่าย กลางคืนนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท คิดมาก วิตกกังวล และบางรายมีอารมณ์เศร้าเบื่อหน่ายท้อแท้ โดยเป็นกลุ่มเสี่ยง 111 ราย พบเครียดสูง 28 ราย ซึมเศร้า 60 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1 ราย ทั้งนี้ การเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยเร็วที่สุด คือ การเปลี่ยนจาก “เหยื่อ” มาเป็น “ผู้กอบกู้วิกฤต” โดยอาศัยความเข้มแข็งของชุมชน เนื่องจากการเป็นเหยื่อย่อมมีโอกาสผิดหวัง โกรธแค้น และสิ้นหวัง ซึ่งยิ่งจมอยู่กับความสูญเสียมากเท่าไร ก็จะยิ่งเกิดภาวะซึมเศร้าและทำร้ายตนเองมากขึ้น

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว พบว่า หลายชุมชนได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสรวมตัวกันแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนเอง เช่น ชุมชนบ้านสันมะแฟน ต.ธารทอง อ.พาน แม้จะตกใจ หวาดกลัว วิตกกังวล สูญเสียที่พักอาศัย แต่ทุกคนรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องอาหาร น้ำ ที่นอน การวางแผนซ่อมและสร้างบ้านด้วยตนเอง โดยสร้างเรียงลำดับกันเองทีละหลัง เป็นการรวมตัวโดยไม่มีแกนนำ แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก หรือชาวหมู่บ้านห้วยส้านยาว ก็จะนำเงิน อาหาร น้ำ มาไว้ที่กองกลางแบ่งปันกัน เป็นต้น

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเข้มแข็งของชุมชนมีส่วนสำคัญต่อการรับมือภัยพิบัติ โดยบทบาทของชุมชน คือ 1. สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับคนในชุมชน เป็นศูนย์กลาง ประสานเตรียมที่พักพิงชั่วคราว ดูแลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ 2. สร้างความสงบทางใจให้คนในชุมชน สื่อสารข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ให้คนในชุมชนตื่นตัวแต่ไม่ตระหนก ใช้หลักทางศาสนาช่วยจิตใจสงบ หากิจกรรมการผ่อนคลาย เป็นต้น 3. สนับสนุนการรวมพลังของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือดูแลผู้อื่น 4. เร่งฟื้นฟูความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนและคนในชุมชน และ 5. สร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรู้สึกมีความหวัง

นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ข้อแนะนำในการดูแลจิตใจภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว คือ 1. รักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง กินอาหารตรงเวลา ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ ระบายความทุกข์ ผ่อนคลายความเครียด 2. ไม่ปล่อยเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ใช้ศักยภาพของตนช่วยเหลือเพื่อนในชุมชน จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ผู้อื่นได้ประโยชน์ 3. รวมพลังเพื่อชุมชน ช่วยเสริมให้เกิดความความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ สามัคคี เป็นเจ้าของชุมชน สำหรับผู้ประสบภัยที่มีอาการตื่นตระหนก หวาดกลัว วิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า โกรธ อ่อนเพลีย ใจสั่น อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเองใน 2 สัปดาห์ - 1 เดือน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยเร็ว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น