xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ชี้ “โยนหมา” ดิ่งตึกดับ เหตุเครียดสะสม แนะ 5 วิธีระบายเครียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์ ชี้ โยนหมาดิ่งตึกดับ เหตุเครียดสะสม เผย “นอนไม่หลับ จิตใจว้าวุ่น ฟิวส์ขาด ทำลายข้าวของ” สัญญาณเตือนภาวะเครียด แนะหาสาเหตุให้ชัดช่วยแก้ปัญหาเหมาะสม พร้อมแนะ 5 วิธีระบายเครียด

วันนี้ (28 ม.ค.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสาวประเภทสองโยนสุนัขพันธุ์ชิวาวาลงมาจากอาคารที่พักสูง 5 ชั้น จนตายอนาถ ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในซอยลาดพร้าว 122 เนื่องจากไม่พอใจที่สุนัขของเพื่อนทำลายข้าวของและขับถ่ายไม่เป็นที่ ว่า เหตุการณ์นี้อาจเกิดจากเกิดจากภาวะเครียดสะสม ซึ่งภาวะเครียดนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ด้วย โดยสัญญาณเตือนเมื่อมีภาวะเครียดแบ่งเป็น สัญญาณเตือนทางกาย เช่น ภาวะนอนไม่หลับ คิดสิ่งที่จะทำไม่ออก และสัญญาณทางจิตใจ เช่น จิตใจว้าวุ่น สมาธิไม่ดี เมื่อมีเรื่องหรือสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ มากระทบต่อความรู้สึกนึกคิดก็จะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมรุนแรงไม่เหมาะสมออกมา หรือเรียกว่า ฟิวส์ขาด อาทิ การทำลายข้าวของ การกระทบกระทั่งกับบุคคลอื่น

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ควรสะสมความเครียดเอาไว้ โดยความเครียดภายในที่มีอยู่เดิม ต้องหาทางระบายออก ซึ่งสามารถทำได้โดยหาสาเหตุของความเครียด เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เช่น รายนี้มีปัญหาในเรื่องพฤติกรรมของสุนัขที่ขับถ่ายไม่เรียบร้อย อาจต้องเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนร่วมห้อง เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น การส่งสุนัขเข้าฝึกอบรม หรือแบ่งเขตพื้นที่ในการใช้ชีวิตภายในห้องเดียวกัน ขณะเดียวกัน ต้องไม่นำความเครียดจากภายนอกเข้ามาสะสมเพิ่มด้วย

วิธีแก้หรือเบี่ยงเบนความเครียดทั้งภายในและนอกจิตใจ สามารถทำได้ 5 วิธี คือ 1. การออกกำลังกายคลายเครียด เช่น เล่นโยคะ รำไทเก๊ก เป็นต้น 2. การฝึกหายใจเข้าออก วันละ 10 นาที เพื่อให้มีสติ 3. การจินตนาการคลายความเครียด เช่น การเปิดดนตรีคลอ ควบคู่ไปกับเรื่องที่ทำ หรือ คิดเรื่องที่สุขใจ 4. ฟังคำพูดดี ๆ ของนักพูดที่คิดบวก หรือ ฟังธรรมะ และ 5. การนวดคลายเครียด นอกจากนี้ การไปฝึกสมาธิ เพื่อฝึกให้จิตใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมีสติอยู่ จนทำให้รู้สึกสงบ ไม่เครียดก็สามารถช่วยได้ หากปฏิบัติได้ก็จะทำให้ปัญหาที่เกิดจากอารมณ์ จนก่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพียงชั่ววูบลดลงได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น