กรมศิลปากร วอนชาวบ้านให้หยุดขุดทองคำพัทลุง เกรงหลักฐานจารึก ทางประวัติศาสตร์สูญหาย ระบุชาวบ้านนำมาส่งมอบ มีรางวัล 1 ใน 3 ราคาประเมินมอบให้ ที่สำคัญรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้เห็นเป็นสมบัติชาติ
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีประชาชนในพื้นที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ขุดพบแผ่นทองคำโบราณ ว่า ตนได้รับรายงานข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราชแล้วว่า มีประชาชนขุดพบเครื่องทองคำ มีแหวน แผ่นทอง ในบริเวณภายในสวนปาล์ม ในพื้นที่ หมู่ 7 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมืองพัทลุงมีเมืองเก่าชื่อว่า ไชยบุรี เป็นเมืองเก่าในยุคทวารวดี ที่อยู่ติดทะเล โดยบริเวณที่ค้นพบทองคำในปัจจุบัน สันนิษฐานว่า จะเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หรือเป็นลำน้ำโบราณที่ตื้นเขินหรือไม่ จึงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง และตนได้ลงพื้นที่วันที่ 28 พ.ค. เพื่อไปดูพื้นที่จริงด้วย
ส่วนทองคำที่ค้นพบ จะต้องตรวจสอบว่าเป็นทองคำในยุคใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ในมาตรา 24 ระบุไว้ว่าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งไว้ในราชอาณาจักรหรือในบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะโดยพฤติการณ์ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าที่ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งจะอยู่ในกรรมสิทธิ์หรือความครอบครองของบุคคลใดหรือไม่ ให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ผู้เก็บได้ต้องส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วมีสิทธิจะได้รับรางวัลไม่เกินหนึ่งในสามแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น
“ผมไม่ห่วงเรื่องทองคำ แต่ห่วงเรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จารึกบนแผ่นทอง หรือลักษณะลวดลายบนเครื่องประดับ ที่จะบ่งบอกได้ว่า เป็นศิลปะในยุคใดและเกี่ยวข้องอะไรกับบริเวณนั้น ในส่วนที่ชาวบ้านได้ขุดแล้วนำไปขาย อาจจะตามได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดี ถ้าชาวบ้านขุดพบแล้ว นำมามอบให้แก่ กรมศิลปากร ก็จะมีการประเมินราคามอบให้หนึ่งในสามแก่ผู้ค้นพบ เช่น แผ่นทองราคา 30,000 บาท จะได้รับ 10,000 บาท และถือว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งโบราณวัตถุเหล่านี้ยังอยู่ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาเป็นสมบัติของชาติต่อไป”นายเอนก กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่