อธิบดีกรมศิลป์ตรวจโบราณสถานเมืองน่าน อึ้ง ช่างไร้ฝีมือใช้ปูนโบกบูรณะจิตรกรรมฝาผนังวัดพระธาตุช้างค้ำ อายุกว่า 100 ปี ภาพเสียหายเกือบหมด ไร้หลักฐานเดิมอ้างอิง ขณะที่ วัดภูมินทร์ ภาพชาดกอายุ 150 ปี เสียหายจากชั้นปูนเสื่อมสภาพ
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ จ.น่าน นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ จ.เชียงราย ส่งผลกระทบทำให้โบราณสถานเสียหายหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า มีโบราณสถานใน จ.น่าน ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และจากปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ วัดพระธาตุช้างค้ำ พบว่า วิหารพระเจ้าทันใจ มีรอยร้าวบนผนังเป็นแนวยาว และที่น่าตกใจ ก็คือทางวัดได้มีการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารหลวง มีอายุกว่า 100 ปี แต่ใช้ช่างที่ไม่มีความรู้ความสามารถ โดยใช้ปูนโบกทับภาพจิตรกรรม ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดหลักการบูรณะ ทำให้หลักฐานเรื่องราวภาพจิตรกรรมและองค์ประกอบภาพทั้งหมดเลือนลางไปเกือบทั้งหมด ดังนั้น จ.น่าน จึงขอให้กรมศิลปากรเข้ามาช่วยอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมใหม่
สำหรับวัดภูมินทร์ พบซุ้มประตูมีรอยแตกร้าว และทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งข้อพระกรของพระประธานในวิหาร มีรอยแยกออกจากกัน นอกจากนี้ ยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องคัทธนกุมารชาดก ที่เขียนขึ้น เมื่อปี 2410 มีอายุเกือบ 150 ปี ชำรุดเสียหาย เนื่องจากการเสื่อมสภาพของชั้นปูนและความชื้น ซึ่งเกรงว่าหากมีแผ่นดินไหวขึ้นอีก โครงสร้างวิหารจะทรุดตัวเพิ่ม ส่วน ที่วัดพระธาตุน้อย ซึ่งอยู่บนยอดเขา พบว่าได้รับแรงสั่นไหว จนตัววิหาร ซุ้มประตู มีรอยร้าวจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวตนหารือกับนายอดิศร พิทยายน รองผู้ว่าราชการ จ.น่าน และนายกเทศมนตรีเมืองน่าน ถึงความร่วมมือในการบูรณะ สรุปว่า ทางจังหวัดยินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณการบูรณะ ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เร่งรวบรวมข้อมูลและประเมินราคา พร้อมจัดแผนการบูรณะ โบราณสถานโดยเร็วที่สุด
“การบูรณะภาพจิตกรรมเป็นเรื่องที่กรมศิลปากร มีความหนักใจ ทางวัดอยากให้เขียนใหม่บนผนังเดิม ในขณะนี้ยังหาหลักฐานเก่าไม่ครบถ้วน ดังนั้น นักโบราณคดีจึงเสนอให้หาหลักฐานให้สมบูรณ์ก่อนจากนั้นจะเขียนบนผ้าใบแล้วนำไปติดตั้งที่ผนังเพื่อเป็นการรักษาของเดิมไว้ถึงแมับางส่วนจะถูกทำลายไปแต่ก็มีคุณค่า” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว