xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเหยื่อนโยบายลวงโลก “ฉุกเฉิน 3 กองทุน” ฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปรียนันท์” หนุนเหยื่อนโยบายลวงโลก “ฉุกเฉิน 3 กองทุน” ฟ้องศาลปกครองให้ความเป็นธรรม หลังถูก รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาหลักแสนถึงหลักล้านบาท แถมไม่จ่ายห้ามย้าย รพ. ทั้งที่ รบ. อ้างชัด สปสช. ตามจ่ายให้ทุกราย เผยบางรายจ่ายแล้วเบิกได้คืนแค่หลักหมื่น ระบุเตรียมเป็นที่ปรึกษา ร่างคำร้องให้ฟรี พร้อมแนะวิธีเอาตัวรอดจาก รพ. กักขังหน่วงเหนี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” เมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยระบุว่า คนไข้ที่เข้ารักษาแบบฉุกเฉินกับ รพ.เอกชน แล้วถูกโรงพยาบาลให้สำรองจ่ายก่อนเป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาท แต่โรงพยาบาลทำเรื่องเบิกคืนจากสำนักงานปลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เพียงหลักหมื่น ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยร่วมกับ สปสช. ว่า ฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ สปสช. จะจ่ายให้ทั้งหมด แต่สุดท้ายกลายเป็นนโยบาลลวงโลก ขณะนี้เครือข่ายฯ จะช่วยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ทุกราย โดยให้ติดต่อมาที่เครือข่ายฯ

นางปรียนันท์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 3 กองทุน คือหากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่ได้รับการรักษาแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้น สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ รวมทั้ง รพ. เอกชน โดยจะไม่มีการถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย เนื่องจาก สปสช. จะจ่ายให้ทั้งหมดนั้น รัฐบาลเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายไว้เมื่อ เม.ย. 2554 แต่ทุกวันนี้กลับมีปัญหา เป็นนโยบายลวงโลก ซึ่งหลังประกาศนโยบายเริ่มมีคนมาร้องเรียนที่ตน 4-5 ราย ทุกรายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ปัญหาคือบางโรงพยาบาลอ้างว่าไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้ญาติจำต้องเซ็นยินยอมให้ผ่าตัด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับชีวิตผู้ป่วย

“มีอยู่เคสหนึ่งก็เจอลักษณะเช่นนี้ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วจะย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลอื่นกลับไม่สามารถย้ายได้ โดยโรงพยาบาลอ้างว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน ซึ่งสุดท้ายพอทำเรื่องจริงๆ โรงพยาบาลกลับสามารถเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสิทธิฉุกเฉินจาก สปสช. ได้ แต่เบิกคืนได้เพียง 7.6 หมื่นบาทจากค่ารักษาทั้งหมด 5 แสนบาท หรือบางรายจะเจอลักษณะที่โรงพยาบาลบอกว่าเข้าข่ายฉุกเฉินสามารถเบิกได้ แต่ขอให้จ่ายก่อน แต่ไม่ยอมบอกญาติผู้ป่วยว่าเบิกไม่ได้ทั้งหมด” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบผู้ที่ประสบปัญหาจากนโยบายนี้มีคนไปร้องเรียนกับสำนักนายกรัฐมนตรี และ สปสช.รวมแล้วประมาณ 1,140 ราย ร้องเรียนที่ตนอีกประมาณหลายราย ซึ่งแต่ละกรณีล้วนมีค่าใช้จ่ายที่หนักหนาทั้งสิ้น ซึ่งปี 2555-2556 ก็มีการออกมาเรียกร้องอยู่เนืองๆ ซึ่งทาง สปสช. และ รมว.สาธารณสุข ก็รับทราบปัญหา จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไข แต่จนขณะนี้ปี 2557 ก็ยังไม่มี แต่ผู้ป่วยกลับตกเป็นเหยื่อของ รพ.เอกชน และนโยบายนี้เพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้ สปสช. และ สธ. บอกเลิกนโยบายนี้ไปก่อน เพราะใช้ไม่ได้จริง โดย รพ. เอกชน ไม่ให้ความร่วมมือ

นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า ทางแก้ปัญหาคือการฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยและญาติไม่รู้จะต้องไปทวงเงินคืนจากใคร ใครเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตอนแถลงข่าวนโยบายก็พร้อมได้หน้ากันทุกฝ่าย แต่พอมีปัญหากลับไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้าช่วย ซึ่งการให้ศาลปกครองตีความนั้นจะได้ทราบเลยว่า รพ. เอกชน คิดค่ารักษาพยาบาลเกินจริงหรือไม่ หรือศาลจะตัดสินว่าเราควรจ่ายเงินเท่าไร หรือไม่ควรจ่ายจากปัญหานโยบายลวงโลกนี้

“การฟ้องศาลปกครอง ผู้ป่วยและญาติสามารถดำเนินการเองได้ แต่ปัญหาคือการเขียนร่างคำร้อง เพราะแม้การฟ้องศาลจะไม่ต้องใช้ทนายหรือเสียค่าใช้จ่าย แต่หากไม่มีความรู้ในการร่างคำร้องก็จำเป็นต้องจ้างทนายช่วยเขียนให้อยู่ดี ซึ่งทางเครือข่ายฯ อยากให้ผู้ประสบปัญหาแจ้งเข้ามา โดยทางเครือข่ายฯจะช่วยให้คำแนะนำและร่างคำร้องให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ต้องทำลำดับเหตุการณ์มาให้ชัดเจน มีชื่อ ที่อยู่ อาชีพ สิทธิการรักษา แต่ละวันเกิดเหตุอะไรบ้างเรียงตามลำดับเหตุการณ์ ต้องจ่ายเงินเท่าไร โรงพยาบาลอ้างว่าอย่างไร สุดท้ายจ่ายไปเท่าไร หรือเบิกคืนเท่าไร โดยสามารถ โทร. ปรึกษาได้ที่เบอร์ 08-0438-0001” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนที่อาจเจอเหตุการณ์เช่นนี้แนะนำว่า ถ้าเข้าเงื่อนไขฉุกเฉินอย่าจ่ายเงิน เมื่อคนไข้ดีขึ้นให้รีบย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ถ้าโรงพยาบาลไม่ให้ย้ายโดยอ้างว่าต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนนั้น ให้ดำเนินการแจ้งความข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งหนี้จะถูกระงับ เรายังไม่ต้องจ่าย โดยอาศัยใบแจ้งความยื่นให้โรงพยาบาล โดยเรื่องหนี้สินเราอาจเซ็นรับสภาพไว้ก่อนได้ แล้วให้ตำรวจมาช่วยเราย้ายโรงพยาบาล หรือหากหารถไม่ได้ให้ โทร. 1669 และสุดท้ายหนี้ที่มีอยู่หรือเซ็นรับไปแล้วก็ไม่ต้องจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รอให้โรงพยาบาลยื่นฟ้อง จะได้เรียก สปสช. และ สธ. มาเป็นจำเลยร่วมพร้อมโรงพยาบาล แล้วให้ศาลปกครองตัดสินว่าควรต้องจ่ายเท่าไรหรือไม่ต้องจ่าย



กำลังโหลดความคิดเห็น