xs
xsm
sm
md
lg

“สแกนกรรม-ตัดกรรม” จงเร่งทำ ก่อนโรคทำลายสุขภาพ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ซึ่งอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงมาก่อน ล้วนแต่เป็นกรรมเก่าที่ทำกันมาจนส่งผลให้เป็นในชาตินี้ อาจจะฟังดูงมงาย แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็มิอาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ คือกลุ่มโรค NCDs นั้นเกิดขึ้นจากกรรมที่ทำแน่นอน

แต่ “กรรม” ที่ว่านี้ มิได้หมายถึงกรรมเก่าที่ตามมาจากชาติที่แล้ว แต่เกิดจาก “พฤติกรรม” ในชาตินี้ และส่งผลจนถึงปัจจุบันนี้หรือในอนาคตข้างหน้า

นั่นเป็นเพราะกลุ่มโรค NCDs หรือก็คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่คุ้นหูและตามทำลายสุขภาพคนไทยอยู่ทุกวี่ทุกวันประกอบด้วย โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่ง ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลึซึม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้อธิบายไว้ในงานเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ “กลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณสร้างเอง” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า กลุ่มโรค NCDs เกิดจากกรรม คือ พฤติกรรม และกรรมพันธุ์ ซึ่งโรคบางโรคนั้นสามารถถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น ยิ่งมาเจอกับพฤติกรรมเสี่ยง นั่นคือ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารรสจัดหวานมันเค็ม ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และความเครียดด้วยแล้ว กลุ่มโรค NCDs ก็จะมาเยือนไว้ขึ้น เรียกได้ว่าทำอย่างไรไว้ก็ได้อย่างนั้น

ความน่ากลัวของกลุ่มโรค NCDs ก็คือ เมื่อเป็นแล้วจะไม่มีวันหาย แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้จากพฤติกรรม แม้จะมีความเสี่ยงจากการสืบทอดทางพันธุกรรม แต่หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะช่วยชะลอโรคที่จะมาเยือนได้ นอกจากนี้ เมื่อเป็นแล้วระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ตรวจก็จะไม่มีทางรู้ อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยงแล้วก็สามารถที่จะควบคุมโรคได้

แต่ประเด็นสำคัญคือ จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้เรามีพฤติกรรมที่เสี่ยงมากน้อยต่อการเกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งล่าสุด สสส. ได้มีการพัฒนาแบบประเมินร่วมกับเครือข่ายจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงกลุ่มโรค NCDs ขึ้น หรือเรียกว่าการสแกนกรรม (พฤติกรรม) นั่นเอง เมื่อทราบแล้วว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างไร และเสี่ยงต่อการเกิดโรคใด ก็จะได้สามารถตัดกรรมนั้นได้ เพื่อชะลอการเกิดมาเยือนของโรคต่างๆ

ซึ่งการสแกนกรรมที่ว่านี้ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ให้ข้อมูลว่า สามารถเข้าไปทดลองสแกนกรรมกันได้ที่ www.ncdsthailand.com โดยจะมีแบบสอบถามให้ทำคือข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลทางกายภาพ ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว เช่น ประวัติมะเร็งของญาติสายตรง ข้อมูลสุขภาพของแต่ละบุคคล ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการบริโภคอาหาร การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การมีกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเรื่องระดับความเครียดด้วย เพราะความเครียดส่งผลทางอ้อมต่อโรค NCDs เวลาเครียดพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น กินเยอะขึ้น กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย บางคนซึมเศร้า ไม่ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง หรือหันไปสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า นอกจากนี้ ยังทำให้คนที่เป็นโรค NCDs อยู่แล้ว อาหารแย่ลง เช่น คนเป็นเบาหวานทำให้อินซูลินออกฤทธิ์แย่ลง ความดันก็เพิ่มขึ้น

สำหรับแบบทดสอบนี้อิงข้อมูลทางสถิติมาประมวลผล เพื่อบอกว่าพวกเราแต่ละคนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากน้อยเพียงไร พฤติกรรมการบริโภคเสี่ยงให้เกิดการเจ็บป่วยมากน้อยเพียงไร โดยเมื่อทำการประเมินเสร็จแล้วผลที่ออกมาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงไร ภายใน 10 ปี หากไม่ปรับปรุงพฤติกรรมก็จะมีภาวะเสี่ยง และส่วนที่ 2 คือพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เจ็บป่วยมากน้อยเพียงไรในแต่ละเรื่อง ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนเชื่อมโงกันได้ เช่น ทานผักน้อย ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรบ้าง อาทิ มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น เพื่อที่จะได้ปรับพฤติกรรมก่อนโรคมาเยือน แม้กรณีที่ความเสี่ยงโรคอาจจะมีไม่มาก แต่พฤติกรรมเสี่ยงยังมีก็ต้องปรับพฤติกรรมเช่นกัน ก่อนที่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น เช่น มาวัดอีกครั้งตอน 6 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงน้อยอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงมากก็ได้

ชมวิธีสแกนกรรม



การเร่งสแกนกรรมเพื่อตัดกรรม หรือตัดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคออกไปจากชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทำ เพราะอย่าลืมคำสอนที่ว่าอย่าเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น แต่ขณะนี้ด้วยภาวะหน้าที่การงาน ความเร่งรีบของสังคม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย กำลังส่งเสริมให้เราเบียดเบียนสุขภาพตัวเองอยู่หรือไม่??













กำลังโหลดความคิดเห็น