ร.ร. พื้นที่แผ่นดินไหวเสียหายมูลค่ากว่า 150 ล. ขณะที่ 5 โรงเรียนอาคารเรียนเสียหายหนักต้องทุบทิ้ง เตรียมใช้อาคารเรียนประกอบและสร้างอาคารน็อกดาวน์ใช้เรียนทดแทนเปิดเทอมนี้ ขณะที่ สพฐ. เตรียมสร้างอาคารเรียนรองรับเหตุแผ่นดินไหวได้ปีนี้
วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และวิทยาลัยอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียน สพฐ. ที่เสียหายอย่างหนักจำนวน 5 โรงเรียน อยู่ในอำเภอพาน อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เบื้องต้นมีอาคารเรียนเสียหายรวมกัน 8 หลัง หรือประมาณ 60 ห้องเรียน ครอบคลุมนักเรียน 1,800-2,000 คน ดังนี้ โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อาคารเรียนเสียหาย 3 หลัง โรงเรียนพานพิทยาคม เสียหาย 1 หลัง โรงเรียนโป่งแพร่วิทยา เสียหาย 1 หลัง โรงเรียนดอยช้าง เสียหาย 1 หลัง และโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ เสียหาย 1 หลัง นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 2 อาคารเสียหาย 1 หลัง รวมแล้วมีสถานศึกษาในสังกัดได้รับความเสียหาย รวม 73 แห่ง รวมมูลค่า 152.5 ล้านบาท เป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษา 49 โรง มูลค่า 40.5 ล้านบาท ระดับมัธยมศึกษา 14 โรง มูลค่า 82 ล้านบาท ระดับอาชีวศึกษา 10 โรง มูลค่า 20 ล้านบาท และระดับอุดมศึกษา 1 โรง มูลค่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานต้นสังกัดได้เตรียมงบประมาณสำหรับซ่อมแซมแล้ว แต่ในส่วนโรงเรียนที่เสียหายอย่างหนักอาจต้องมีการรื้อถอนอาคารเรียนเพื่อสร้างใหม่ จำเป็นต้องของบกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่ม เพราะต้องใช้งบประมาณมาก อย่างเช่น อาคารเรียนของโรงเรียนพานพิทยาคม ความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งต้องเตรียมงบประมาณสำหรับรื้อถอนด้วย แต่คาดว่าการของบประมาณน่าจะใช้เวลาไม่นาน
“ทุกอาคารที่สงสัยในความปลอดภัย จะต้องได้รับการประเมินและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญก่อนถึงจะสามารถเปิดใช้การต่อไปได้ แต่หากผู้ปกครองไม่แน่ใจความปลอดภัยในอาคารใดเพิ่มเติมก็สามารถร้องขอให้ตรวจสอบได้ เพราะความเสียหายจากแผ่นดินไหวอาจไม่พบเห็นได้ทันที บางอาคารไหวมาสองวันแล้วเพิ่มปรากฏรอยร้าว เพราะฉะนั้นเพื่อความไม่ประมาทให้ถือหลักความปลอดภัยเป็นอันดับแรก อันดับสอง ต้องหาทางให้เปิดเรียนได้ภายในกำหนด 16 พฤษภาคม ซึ่งโรงเรียนที่อาคารเรียนได้รับความเสียหายเตรียมจะใช้อาคารประกอบเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว รวมทั้งสร้างอาคารเรียนน็อคดาวน์ขึ้นมาใช้เรียนเพิ่มเติม” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายสนอง สุจริต ผู้อำนวยการโรงเรียนพานพิทยาคม กล่าวว่า อาคารเรียนที่เสียหาย 1 หลัง จะต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาประเมินก่อนซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้ส่งวิศวกรมาและเตรียมจะเข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนได้วางแผนจะใช้อาคารประกอบมาดัดแปลงเป็นห้องเรียนชั่วคราวก่อนใช้ทดแทนห้องเรียนในอาคารพญาไชยเฒ่า ซึ่งมีทั้งหมด 24 ห้องเรียน และจะสร้างอาคารน็อกดาวน์เพิ่มเติมเพื่อให้ครูและนักเรียนมีความสะดวกสบายในการเรียนการสอนมากขึ้น ทั้งนี้ อาคารพญาไชยเฒ่า มูลค่าอาคาร 30 ล้านบาท ใช้งานมากว่า 20 ปี
ด้าน นายเกษม หมื่นตาบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนมีอาคารเรียนเสียหายอย่างหนัก 3 หลัง รวม 22 ห้องเรียน มีอายุกว่า 30 ปีโดยขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินแล้วว่าต้องทุบทิ้งทั้งหมด เบื้องต้นได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งการรื้อทั้ง 3 หลัง และสร้างทดแทนใหม่ 2 อาคาร มูลค่า 45 ล้านบาท ส่วนอาคารที่สร้างใหม่ก็จะต้องหารือกับวิศวกรเพื่อสร้างให้รองรับการเกิดแผ่นดินไหวด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดภาคเรียนจะใช้อาคารประกอบ ได้แก่ โรงฝึกงาน หอประชุม รวมทั้งสร้างอาคารน็อกดาวน์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนไปก่อน ขณะเดียวกัน จะมีการซักซ้อมวิธีการช่วยเหลือตนเองในขณะที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวให้แก่นักเรียนด้วย
ขณะที่ นายคำภา ชานะกุล นายช่างโยธาอาวุโส สพฐ. กล่าวว่า จากการประเมินด้วยสายตาเบื้องต้นอาคารเรียนของโรงเรียนพานพิทยาคมได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่น่าจะใช้งานได้จะต้องมีการทุบทิ้งและสร้างใหม่ ซึ่งขณะนี้ สพฐ. เพิ่งได้รับอนุมัติแบบอาคารเรียนที่ต้านแรงแผ่นดินไหวสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ในเขตรอยเลื่อนหรือเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เช่น โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ เป็นต้น โดยแบบอาคารเรียนจะมี 3 ชั้นมีการเสริมเหล็กโครงสร้างอาคารให้มีความมั่นคง รองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากอาคารเรียนทั่วไปประมาณ 30% ซึ่งการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณนี้ โดยเป็นปีแรกที่ สพฐ. ได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับอาคารเรียนใหม่ในพื้นที่รอยเลื่อนแผ่นดินไหวรวมทั้งจะใช้แบบอาคารเรียนนี้ในการสร้างทดแทนอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย
ด้าน นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สอศ. ได้สำรวจความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัดที่จ.เชียงรายได้รับความเสียหาย 6 วิทยาลัย จะมีความเสียหายเล็กน้อยไปตนถึงเสียหายปานกลาง โดยที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย เสียหายมากสุด ประเมินเบื้องต้นประมาณ 25 ล้านบาท แต่ว่าอาคารเรียนยังสามารถใช้ได้ ส่วนที่ จ.พะเยา มี 4 วิทยาลัยที่เสียหายเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมกันต่อไป ทั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ สอศ. ได้มอบให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายเข้าไปตั้งศูนย์ซ่อมสร้างชุมชนแล้ว นอกจากนี้ ในวันที่ 8 พฤษภาคม สอศ. จะเข้าไปสร้างห้องเรียนชั่วคราวที่โรงเรียนพานพิทยา และโรงเรียนแม่ลาววิทยาคม เพื่อให้ทันเปิดเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 36 ที่ประสบแผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.เชียงรายและพะเยา มีจำนวน 14 โรง ได้แก่ โรงเรียนพานพิทยาคม และโรงเรียนพานพิเศษพิทยาคม อาคารเรียน และอาคารประกอบได้รับความเสียหายแห่งละ 1 หลังผนังอาคารแตกร้าว โรงเรียนแม่ลาววิทยาคม อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 3 หลัง ผนังอาคารแตกร้าวกระทบโครงสร้างอาคาร โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม อาคารเรียนและอาคารประกอบเสียหาย 3 หลัง โรงเรียนแม่อ้อวิทยาคม อาคารเรียนและอาคารประกอบเสียหาย 3 หลัง โรงอาหาร ห้องน้ำ และบันไดทางขึ้นโรงเรียนมีรอยร้าว โรงเรียนวาวีวิทยาคมอาคารเรียน อาคารเรียนเสียหาย 3 หลังและบ้านพักนักเรียนเกิดรอยร้าว โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ความเสียหายเกิดกับหอพักนักเรียน 4 หลัง โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อาคารเรียนเสียหาย 3 หลัง อาคารหอประชุม 1 หลัง โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม อาคารเรียนมีรอยร้าวที่ผนังและกระเบื้องแตก โรงเรียนปล้องวิทยาคม อาคารหอประชุมและโรงฝึกงานเกิดรอยร้าวและแตก โรงเรียนเชียงของวิทยาคม โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม โรงงเรียนภูซางวิทยาคม และโรงเรียนขุนควรวิทยาคม อาคารเรียนและอาคารประกอบเสียหายมีรอยร้าว