xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์มรดกโลกส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยไทยบูรณะโบราณสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์มรดกโลกห่วงไทยส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านการบูรณะโบราณสถานหลังเกิดมหาอุทกภัย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมิ่อปี 2554 ทำให้แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบและเสียหายอย่างหนัก ศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก จึงได้แสดงความเป็นกังวลในการดำเนินการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานในประเทศไทย โดยเฉพาะมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ทั้งวัดไชยวัฒนาราม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดดุสิตาราม จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถาน หรือ อิโคโมส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของศูนย์มรดกโลกสำหรับแหล่งมรดกวัฒนธรรม มาให้ข้อแนะนำในการรักษาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของมรดกโลกเอาไว้อย่างถูกวิธี และดีที่สุด และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการดูแลรักษามรดกโลก ซึ่งอาจจะเกิดภาวะวิกฤตในปีต่อๆ ไป

นายอเนก กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญได้มีการเสนอแนะกรมศิลปากรจะต้องมีการจัดทำแผนงานการบูรณะภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดยจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการบูรณะ แผนงานนโยบายภาพรวมสำหรับโบราณสถาน ซึ่งพิจารณาจากขนาดและความสำคัญที่แตกต่างกันก่อน ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และโบราณสถานที่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ ในการจัดทำแผนป้องกันปัญหาน้ำท่วมโบราณสถานทุกๆ ที่ ต้องทำการวิจัยเครื่องมือ และแนวทางการป้องกันโดยให้นำข้อมูลความรู้และเทคโนโลยีของเดิมมาเปรียบเทียบและประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ใหม่ ทั้งการจัดทำพนังกั้นน้ำ การก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น กรณีที่มีการบูรณะจิตรกรรมฝาผนังภายในโบราณสถาน ควรใช้แนวทางอนุรักษ์ที่มีวัสดุและเทคนิคดั้งเดิม ไม่ควรฉาบผนังด้วยวัสดุฉาบที่ไม่สามารถระบายอากาศได้ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อจิตรกรรมฝาผนัง ขณะเดียวกัน ควรมีการเก็บบันทึกภาพโบราณสถานอย่างครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการบูรณะครั้งต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังเสนอด้วยว่า ประเทศไทย ควรมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการบูรณะระหว่างกัน รวมทั้งควรศึกษากรณีศึกษาการบูรณะ และอนุรักษ์ในแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ตามได้เสนอให้มีการจัดทำผังเมือง การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยาฉบับใหม่ ให้มีรูปแบบความเป็นสากล ภายใต้บริบทของประเทศไทย ขณะที่แผนบริหารจัดการจะต้องมีการบันทึกข้อมูล รายงานสภาพ สร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ ตลอดจนประเมินติดตามงานภายหลังการบูรณะด้วย และสุดท้าย คือ จะต้องฟื้นฟูฝีมือช่างดั้งเดิม และจัดทำห้องปฏิบัติการด้านวิชาการอนุรักษ์ให้เป็นระบบ เพื่อรับประกันฝีมือช่างเดิมด้วย ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลบรรจุในแผนแม่บทอนุรักษ์มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา และมอบนโยบายให้สำนักศิลปากรนำไปใช้ในการบูรณะโบราณสถานทั่วประเทศด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น