xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯส่งเครื่องสแกน 3 มิติ ความละเอียดสูงช่วยไทยเก็บข้อมูลโบราณสถานแม่นยำขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหรัฐฯหนุนไทยอนุรักษ์โบราณสถาน ส่งอุปกรณ์เลเซอร์สแกน 3 มิติให้ไทยเก็บข้อมูลแบบละเอียด แม่นยำ ด้านกรมศิลป์รอพิจารณาความเหมาะสม อาจจัดซื้อไว้ใช้งาน จำลองวัตถุโบราณให้เด็กรุ่นหลักได้ศึกษา

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักโบราณคดี นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้อุปกรณ์เลเซอร์สแกน 3 มิติ ในการสำรวจโบราณสถาน ตามโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะที่ 2 ว่า กรมศิลปากร ได้รับความร่วมมือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีในงานมรดกวัฒนธรรมในการอนุรักษ์โบราณสถาน เนื่องจากในปัจจุบันการขุดค้นทางโบราณคดี และการเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาการทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้ เทคนิคต่างๆ และเทคโนโลยี ให้มีความทันสมัย จึงได้นำอุปกรณ์เลเซอร์สแกน 3 มิติมาใช้กับงานโบราณสถาน เพื่อเก็บข้อมูลโบราณสถานให้มีความละเอียดแม่นยำ โดยมีการบริหารจัดการข้อมูลรูปแบบดิจิตอล ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาทำการประมวลผล และบูรณาการข้อมูลความรู้ที่ได้จากกาดำเนินการมาใช้บูรณะโบราณสถาน ทั้งการทำความเข้าใจผลลัพธ์ที่ได้จากการสแกน การประเมินสภาพโบราณสถาน การวิเคราะห์รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมและโครงสร้าง

นายเอนก กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จะเริ่มนำร่องดำเนินการที่วัดไชยวัฒนารามก่อน โดยทำการรวบรวม และประมวลผลพื้นที่ โครงสร้างรูปทรง ความสูง ลวดลายที่ปรากฏได้ชัดเจน ด้วยการถ่ายภาพสามมิติ เพื่อจะนำไปประเมินค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม จากนั้นตนจะมอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานทั่วประเทศ ซึ่งมีหน้าที่สำรวจ ออกแบบ บูรณะโบราณสถาน มาเรียนรู้วิธีการทำงาน และให้มีการใช้ระบบเลเซอร์สแกน 3 มิติ ไปใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อเก็บเป็นคลังข้อมูลโบราณสถานทั่วประเทศ หากเกิดกรณีภัยพิบัติที่ก่อให้เกิด ความเสียหายทั้งจากคน หรือ ธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็สามารถนำมาเป็นต้นแบบประเมินวิธีการทำงานในการบูรณะได้เร็วขึ้น และสามารถเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

“ทั้งนี้ เนื่องจากราคาของเครื่องเลเซอร์สแกนมีราคาสูงเกือบ 10 ล้านบาท กรมศิลปากร จึงต้องประเมินความคุ้มค่าของการใช้งานในภาพรวมทั้งหมดก่อน เพื่อประกอบการพิจารณาความเหมาะสมในกรณีที่อาจจะมีการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวไว้ใช้งาน หรืออีกแนวทางหนึ่งก็อาจจะใช้วิธีจัดจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะจะต้องมีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเครื่องมือนี้ มีประโยชน์มาก เพราะในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น ก็ได้นำมาใช้สแกนรูปทรงของโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาเป็นคลังข้อมูล ในการจำลองโบราณวัตถุ ไว้ให้เด็กรุ่นใหม่ได้ศึกษา” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น