xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ล้านนา สอน ดุนโลหะ ปั้น ให้เยาวชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สุกัญญา แสงงาม

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับชุมชนเวียงกุมกาม จัดนิทรรศการ “ข่วงศิลป์ร่วมสมัย” ขึ้นบริเวณวัดอีค่าง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยเชิญปราญช์ด้านต่างๆ มาร่วมเสวนาพร้อมนำศิลปล้านนามาจัดแสดงด้วย ซึ่งมีหลากหลายมุมน่าสนใจ อย่าง เครื่องเงิน “ดุนโลหะ” ลวดลายสื่อล้านนาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นให้ลูกหลานรวมถึงผู้ที่สนใจได้สืบสานมรดกอันล้ำค่าเหล่านี้เอาไว้

อีกมุมที่รับความสนใจไม่ก็คือโคม ตุง ผ้าที่ตัดเป็นลวดลายต่างๆ นำมาประดับประดาตามจุดต่างๆ ภายในงานสร้างความโดดเด่นให้แก่ผู้เข้ามาชมงาน ทั้งนี้ เท่าที่สังเกตด้วยสายตาจะพบว่าการจัดนิทรรศการมีทั้งแบบอนุรักษ์ของดั้งเดิม บางส่วนได้มีการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน ยังมีมีมุมงานปั้นดินรูปสัตว์ ภาพถ่ายเวียงกุมกามในหลากหลายสมัย สื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

เขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เล่าว่า กระทรวงวัฒนธรรม เข้ามาฟื้นฟูเวียงกุมกามให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของเขา พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านดุนเงิน โคม ตุง และอื่นๆ ให้เด็ก เยาวชนในชุมชนและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังจัดการแสดง เนื้อเรื่องจะเล่าความเป็นมา วิถีชีวิตของชาวเวียงกุมกาม เพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้

สำหรับผลงานที่นำมาจัดนิทรรศการครั้งนี้ ล้วนเป็นฝีมือลูกหลานเวียงกุมกามซึ่งได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์ หรือศิลปินล้านนา เชื่อว่าการเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านศิลปวัฒนธรรมให้เยาวชนเหล่านี้ จะกระตุ้นให้เขารักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมของตนเอง” เขมชาติ กล่าวด้วยว่า สศร.ร่วมมือกับปราชญ์ล้านนา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัดเชียงใหม่ ผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน บนพื้นที่เวียงกุมกาม

ดิเรก สิทธิการ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญางานดุนโลหะ บอกว่า งานดุนโลหะเป็นสุดยอดหัตถศิลป์ล้านนา เด็กที่ร่วมอบรมการทำเครื่องเงิน เรียนรู้วัสดุอุปกรณ์ การเดินเส้นตามลวดลาย โดยจะเริ่มฝึกหัดทำของชิ้นเล็กและง่ายๆ ก่อน ก็คือทำพวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือลายการ์ตูน ลายนักษัตร ซึ่งจะสอนทำลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และสมัยใหม่ คือพยายามให้เด็กออกแบบเองตามความสนใจ ข้อดีของการทำชิ้นงานช่วยฝึกสมาธิ เมื่อจบคอร์สเด็กจะมีผลงานที่ทำจากฝีมือตนเอง อย่างไรก็ตาม หากเด็กคนไหนขยันหมั่นฝึกปรือฝีมือสามารถทำเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเวียงกุมกาม

บุญรัตน์ ณ วิชัย ประธานชมรมส่งเสริมสล่าล้านนา กล่าวว่า เวียงกุมกามเป็นชุมชนเก่าแก่และมีศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยแก่เยาวชนในพื้นที่วัดเจดีย์หลี่ยม วัดช้างค้ำ วัดอีค่าง และพื้นที่ในชุมชนเวียงกุมกาม โดยเฉพาะเยาวชนตื่นตัวเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ด้าน ชาวเวียงกุมกามรายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาฟื้นฟูเวียงกุมกามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ชาวบ้านวิตกกังวลว่าเหลือเวลาเพียง 4-5 เดือน จะจบโครงการนำร่อง หน่วยงานของรัฐยังเดินหน้าต่อ หรือปล่อยให้เวียงกุมกามหลับใหลเหมือนในอดีต

คำถามนี้กระทรวงวัฒนธรรม น่าจะมีคำตอบให้ชาวบ้านคลายความกังวล เพราะทุ่มทุนฟื้นฟูเวียงกุมกามไปเกือบ 100 ล้านบาทจะให้สูญเปล่าอย่างนั้นหรือ ถ้าเดินหน้าต่อขอทำแบบยั่งยืน ไม่ใช่ทุ่มงบไปที่อีเวนต์




กำลังโหลดความคิดเห็น