xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานป่วยโรคเรื้อรังกว่า 4 ล.คน หวั่นเสาหลักล้มกระทบครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานไทยป่วยโรคเรื้อรังเกือบ 4 ล้านคน ภาคเกษตรกรรมมีสารเคมีในเลือดสูงกว่า 30% สธ. เผยพบสัดส่วนเด็ก-คนแก่ต่อวัยทำงานเพิ่มขึ้น หวั่นเสาหลักของบ้านล้ม เจ็บป่วยทำงานไม่ได้กระทบครอบครัว เล็งตั้งคลินิกโรคจากการทำงานทุก รพศ./รพท. และขยายลง รพช. ขนาดใหญ่

วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งแรงงานถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่พบว่า เด็กและผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 48 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2553 เป็น 60 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในอีก 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ หากยังเพิ่มขึ้นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง หากประชากรวัยแรงงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถทำงานได้ จะเกิดผลกระทบต่อครอบครัว ขาดเสาหลักหารายได้เลี้ยงดู เป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 พบไทยมีประชากรที่มีงานทำประมาณ 38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 13 ล้านคน ส่วนอีกเกือบ 25 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ฯลฯ มีสถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 2 ล้านแห่ง ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานภาคเกษตรกรรมปี 2554-2556 พบปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดร้อยละ 30 ส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลปี 2554 พบว่าร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด หรือเกือบ 4 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง มากที่สุดคือโรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ส่วนปี 2555 มีผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานถึงขั้นเสียชีวิต 717 ราย พิการหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วน 1,827 ราย จึงต้องเร่งให้การดูแล เน้นหนักที่การป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในสถานประกอบการ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค (คร.) ดำเนินการแก้ไขและป้องกัน

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า กรมฯได้จัดโครงการวัยทำงานปลอดโรคปลอดภัย กายใจเป็นสุข โดยภาคเกษตรได้ขยายคลินิกดูแลสุขภาพเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะเร่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ส่วนภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนามาตรฐานสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของวัยแรงงาน ที่ต้องอยู่วันละ 8-9 ชั่วโมง ให้เป็นสถานที่ปลอดโรคปลอดภัย โดยปี 2556 ดำเนินการแล้ว 228 แห่ง ส่วนปี 2557 จะดำเนินการเพิ่มอีก 800 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มอีกปีละ 10 แห่งต่อจังหวัด ประเด็นที่เน้นหนักประกอบด้วย ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ทำงาน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย ลดความเครียด

ส่วนการดูแลรักษาแรงงานที่เจ็บป่วย ได้จัดตั้งคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด มีแพทย์เฉพาะทางตรวจรักษาโดยเฉพาะ และจะขยายลงโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ต่อไป โดย มิ.ย. ปีนี้ จะอบรมพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 50 คน เพื่อประจำการในคลินิก” อธิบดี คร. กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น