xs
xsm
sm
md
lg

เอดส์รักษาเร็วช่วยลดแพร่เชื้อ ดีเดย์ 1 ต.ค. รับยาต้านทันที ไม่ต้องรอค่า CD4 ต่ำกว่า 350 (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้ชัด ยิ่งรับยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็ว ยิ่งช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คู่รักและลูกในครรภ์ได้ กรมควบคุมโรคเผยข่าวดี 1 ต.ค. 2557 เริ่มให้ยาต้านไวรัสได้ทันที ตามความสมัครใจ โดยไม่ต้องรอให้ค่า CD4 ต่ำกว่า 350 ทุกสิทธิการรักษา



วันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวเปิดแถลงข่าว “การรักษาคือการป้องกัน...เพื่อเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย” ว่า การรักษาไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มารับการรักษาเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังคนที่ไม่ติดเชื้อได้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม “คู่ต่าง (Opposites Attract)” ที่ฝ่ายหนึ่งมีการติดเชื้อเอชไอวี แต่อีกคนหนึ่งไม่มีการติดเชื้อ การรักษาจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคู่ของเราได้ ซึ่งอาจป้องกันได้มากกว่าการใช้ถุงยางอนามัยที่มักบอกว่าป้องกันได้ 100% แต่ความเป็นจริงกลับมีการใช้ถุงยางอนามัยเพียง 60% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้การรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัส เพื่อกดเชื้อไวรัสในร่างกายลงจนไม่มีเชื้อในกระแสเลือดจะป้องกันการติดเชื้อไปยังคู่ของเราได้ แต่ถุงยางอนามัยยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวว่า การรักษาคือการป้องกันเป็นเรื่องที่รู้กันมากว่า 20 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาดังเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่รู้จักเป็นอย่างดีคือการป้องกันการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูก โดยการให้แม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีกินยาต้านไวรัสก็จะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ลูกลดลง ซึ่งจากการวิจัยพบว่า แม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี หากไม่ได้กินยาต้านไวรัส ลูกที่คลอดออกมา 1 ใน 3 จะมีโอกาสติดเชื้อได้ ซึ่งจะสัมพันธ์กับปริมาณเชื้อในร่างกายแม่และสุขภาพของแม่ด้วย แต่หากแม่ตั้งครรภ์ยิ่งได้รับยาต้านไวรัสเร็วเท่าไร โอกาสการติดเชื้อไปสู่ลูกก็จะยิ่งต่ำลง โดยเฉลี่ยคือต่ำกว่า 0-1% แต่บางรายที่ให้ยาต้านไวรัสช้า โอกาสการแพร่เชื้ออาจอยู่ที่ประมาณ 4% ทั้งนี้ กลุ่มแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสจนกระทั่งคลอดลูกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นไป จะได้รับยาต้านไวรัสต่อเนื่องไปตลอด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คู่ของตนด้วย

พญ.นิตยา กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการแพร่เชื้อไปสู่คู่รัก มีการศึกษาในต่างประเทศหลายโครงการ อาทิ โครงการ HPTN 052 ที่ทำการวิจัยกลุ่มคู่ต่างกว่า 1,700 คู่ใน 9 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย โดยจับสลากแบ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มให้ยาต้านไวรัสทันที และกลุ่มที่ให้ยาต้านไวรัสหลังระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) ต่ำกว่า 250 ซึ่งถือว่าป่วยแล้ว โดยทำการติดตามนาน 1 ปี พบว่า กลุ่มแรกมีการติดเชื้อเพิ่มเพียง 1 คู่ ส่วนกลุ่มสองมีการติดเชื้อถึง 27 คู่ เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนแล้วพบว่ากลุ่มที่กินยาเร็วโอกาสการแพร่เชื้ออยู่ที่ 0.1 ใน 100 คนต่อปี ส่วนกลุ่มที่กินยาช้าอยู่ที่ 1.7 ใน 100คนต่อปี เท่ากับว่าการกินยาต้านไวรัสเร็วจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้มากกว่าการกินยาช้าถึง 96%

“โครงการ HPTN 052 ส่วนใหญ่เป็นคู่รักชายหญิงเกือบทั้งหมด จึงต้องมีการวิจัยเฉพาะเพิ่มในกลุ่มชายรักชายด้วย เพราะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งมีความเปราะบางกว่า จะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าทางช่องคลอดถึง 10 เท่า แม้จะมีโครงการ Partner ที่มีการศึกษากลุ่มคู่ต่างชายรักชายจำนวนหนึ่งก็ตาม และโครงการ Opposites Attract ที่จะศึกษาละเอียดถึงการข้อมูลชีวิตจริงของเกย์เป็นอย่างไรบ้าง แต่การศึกษาทั้งสองโครงการยังไม่เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีตัวเลขทางสถิติแน่ชัดว่าในกลุ่มชายรักชายจะช่วยลดการติดเชื้อไปยังคู่ได้มากน้อยเท่าไรอย่างไร แต่หากมีการติดเชื้อก็สมควรรับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดเช่นกัน เพราะมีแนวโน้มชัดเจนว่าสามารถป้องกันได้” พญ.นิตยา กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละ 9,000 คน ผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วประเทศมีประมาณ 460,000 คน ซึ่งหากไม่มีการป้องกันที่ดี คนจำนวนนี้อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการเอดส์ชาติก็พร้อมที่จะสนับสนุนการยุติปัญหาเอดส์ในไทย โดยภายในปี 2559 จะต้องลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ให้เกิน 3,000 คนต่อปี และภายใน 2573 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องไม่เกิน 1,000 คนต่อปี แต่การดำเนินงานนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จหากยังเดินหน้ามาตรการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแบบเดิม ที่ต้องดำเนินการเพิ่มคือต้องเพิ่มการใช้ถุงยางอนามัยจาก 60% เพิ่มเป็นมากกว่า 90% และต้องควบคู่ไปกับการให้ยาต้านไวรัสทันทีที่ทราบว่าติดเชื้อ โดยไม่ต้องรอให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงจึงมีโอกาสเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสจะต้องให้ค่า CD4 ต่ำกว่า 350 แต่จากการหารือกับทุกสิทธิการรักษา ทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ต่างเห็นด้วยที่จะเริ่มดำเนินการให้ยาต้านไวรัสทันทีที่ทราบว่าติดเชื้อ ซึ่งต้องเป็นไปตามความสมัครใจที่จะได้รับยาของผู้ติดเชื้อด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการ 1 ต.ค. 2557

“อย่างไรก็ตาม อาจมีปัญหาการดำเนินงานในสิทธิประกันสังคม เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาล จึงจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์เดิมของปี 2557 ไปก่อน ทั้งนี้เมื่อมีรัฐบาลใหม่คาดว่า อาจมีการพิจารณาให้ดำเนินการได้ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2558 ส่วน สปสช. ไม่น่ามีปัญหาเพราะมีความยืดหยุ่นได้” รองอธิบดี คร. กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การรักษาคือการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญและเห็นด้วย แต่ปัญหาคือต้องปรับทัศนคติของประชาชนใหม่ให้ได้ ไม่ใช่ว่าติดเชื้อแล้วจะต้องมานั่งคร่ำครวญเสียใจ ต้องสื่อสารให้รู้ว่าเอดส์รู้เร็วรักษาได้ รับการรักษาแล้วการติดเชื้อจะน้อยลง และสื่อต้องช่วยลบภาพความน่ากลัวของเอดส์ลง เพราะจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ อีกประเด็นที่ต้องเร่งรณรงค์คือ การตรวจเลือด ซึ่งขอแนะนำว่าควรตรวจปีละครั้งในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เพราะปัญหาใหญ่อีกประการของไทยคือ เรามีผู้ติดเชื้อมากเกือบ 5 แสนคน แต่มีคนมาตรวจเลือด รับการรักษาน้อยมากเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทั้งที่เรามียาต้านไวรัสฟรีทุกสิทธิการรักษามาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2549 เป็นระยะเวลาเกือบ 8 ปีแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กินยาต้านไวรัสแล้วหยุดยา เมื่อกลับมากินใหม่จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้มากน้อยเพียงไร พญ.นิตยา กล่าวว่า ตามทฤษฎีการกินยาต้านไวรัสคือการกดเชื้อไวรัสในร่างกายให้ต่ำที่สุดตลอดเวลา ซึ่งแม้แต่การกินยาคลาดเคลื่อนก็อาจมีผลกับบางคน เพราะไวรัสในร่างกายแต่ละคนมีความไวต่อการตอบสนองยาไม่เท่ากัน ดังนั้น การปล่อยให้ร่างกายขาดยาเป็นเวลานาน ไวรัสก็จะเริ่มแข็งแกร่งขึ้นจนแสดงอาการ แม้จะกลับมากินยาอีกครั้งไวรัสก็อาจจะดื้อยาได้ ก็ต้องเปลี่ยนสูตรยารักษา แต่บางรายเชื้ออาจไม่ดื้อยาก็มี แต่ประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการหยุดยา เพราะเมื่อตรวจว่าพบเชื้อและเข้ารับการรักษา พบว่า 70-80% มีการกินยาสม่ำเสมอ มารับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องดีกว่าบางประเทศที่พัฒนาแล้วเสียอีก แต่ที่เป็นปัญหาคือกลุ่มที่ไม่ยอมมาตรวจเลือด หรือรู้ผลตรวจแล้วไม่ยอมรับการรักษา




กำลังโหลดความคิดเห็น