กรมแพทย์แผนไทยแนะวิธีสวยสู้แดด ใช้ “แตงกวา” ช่วยบำรุงผิวจากการถูกเผาไหม้ รักษาผิวหนังที่ตายให้สดชื่น ระบุควรกินอาหารรสจืด ขม และเย็น ช่วยปรับสมดุลร่างกายให้เย็นสบาย คลายความร้อน เตือนพกยาหอมติดตัว ช่วยรักษาอาการวิงเวียน ก่อนโรคลมแดดมาเยือน
วันนี้ (29 เม.ย.) นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวเรื่องการรับมือภาวะวิกฤตอุณหภูมิสูงของประเทศไทยและพายุฤดูร้อนด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิร้อนสูงสุดในรอบปี ทำให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ ทั้งโรคผิวหนังที่เกิดจากการเหงื่อออก ผิวหนังไหม้เกรียมแดด เกิดฝ้า โรคลมแดดจากการสูญเสียน้ำ และอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น โรคอุจจาระร่วง และโรคไข้หวัดต่างๆ ซึ่งสมุนไพรสามารถช่วยได้ทั้งหมด โดยโรคผิวหนังจากแดดขอแนะนำให้ทาครีมกันแดดว่านหอม ซึ่งมี SPF ถึง 40 จะช่วยป้องกันแสงแดดได้ สำหรับผู้ที่มีผิวหนังไหม้เกรียมจากแดด สามารถใช้แตงกวาในการสมานผิว รักษาผิวหนังที่ตาย ทำให้ผิวหนังสดชื่นอีกครั้ง
นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับโรคลมแดด ขอแนะนำให้มียาหอมติดตัว ที่แนะนำคือยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีฤทธิ์ค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะการบำรุงหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ไปเลี้ยงสมองดีขึ้น และมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายสดชื่น หายปวดเมื่อย เนื่องจากมีสมุนไพรเป็นส่วนผสมมากถึง 52 ชนิด ส่วนโรคอุจจาระร่วงเกิดจากกินอาหารบูดเน่า เพราะความร้อนนั้น เมื่อเจ็บป่วยมียาเหลืองปิดสมุทร ซึ่งเป็นกลุ่มยาสามัญ สามารถช่วยดูดซับพิษได้ มีความปลอดภัยใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และไข้หวัดจากการถูกแดด มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ขอแนะนำให้ใช้ฟ้าทลายโจรแก้ปวดไข้ ฆ่าเชื้อไวรัส โดยกินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก็จะช่วยให้หายจากไข้หวัดได้
“การกินอาหารในหน้าร้อนเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากภายในร่างกายมีอุณหภูมิสูง จึงต้องกินอาหารที่มีรสจืด ขม เย็น เพื่อเข้าไปปรับสมดุลในร่างกาย เมนูในการทำอาหารควรมีส่วนผสมของ แตงกวา ฟัก แฟง ซึ่งเป็นผักรสจืด มะระ ซึ่งมีรสขม และใบบัวบก ที่มีรสเย็น เป็นต้น หากเป็นผลไม้แนะนำให้กินพวกมะละกอ แตงโม สับปะรด กล้วย ขนมหวานอาจเป็นกระท้อนแช่อิ่ม หรือสละลอยแก้วใส่น้ำแข็งไส ส่วนเครื่องดื่มควรดื่มน้ำยาอุทัย น้ำฝาง น้ำมะพร้าว น้ำใบเตย น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ ก็ช่วยได้เช่นกัน” อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย กล่าว