xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์นี้ร้อนสุดๆ “คนอ้วน-เด็ก-แก่” ระวัง “โรคลมแดด” อาจถึงตาย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เตือนสัปดาห์นี้ร้อนสุดๆ ระวังโรคลมแดด ชี้อันตรายร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันอาจถึงตาย เผยหน้าร้อนปีที่แล้วตายถึง 20 ราย แนะ 6 กลุ่มเสี่ยงป้องกันตัว โดยเฉพาะคนสูงอายุ เด็ก ความดัน อ้วน อดนอน ทำงานกลางแดด และกินเหล้า ให้ดื่มน้ำมากๆ เลี่ยงแดด ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนดี

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุด ที่น่าห่วงและมีอันตรายคือ โรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับความร้อนในร่างกายได้ อุณหภูมิร่างกายจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน 5. ผู้ที่อดนอน และ 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก กลายเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้ร่างกายระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไป ส่วนคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายจึงสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนไม่ได้ดื่ม ที่สำคัญอากาศที่ร้อนจัดทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย แต่เลือดไปเลี้ยงที่ตับ ไตน้อยลง ทำให้ไตวาย ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้” ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ปัญหาจากอากาศร้อนมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ ได้แก่ 1. ผิวหนังไหม้ (Sun burn) 2. ตะคริวจากความร้อน (Heat cramp) เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3. เพลียแดด (Heat exhaustion) จากร่างกายสูญเสียเหงื่อมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง มีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ 4. ลมแดด (Heat Stroke) ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานปี 2546-2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดรวม 196 ราย เป็นผู้สูงอายุมากที่สุด รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา โดยปี 2556 มีผู้เสียชีวิต มี.ค. - เม.ย. จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี เสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือ ที่ทำงาน และในรถยนต์

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือผู้เป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ส่วนการป้องกันนั้น ช่วงที่อากาศร้อนขอให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี ลดกิจกรรมออกแรงกลางแจ้ง ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง ผู้ที่ออกกำลังกายควรทำในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ซึ่งอากาศไม่ร้อนมาก และค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์




กำลังโหลดความคิดเห็น