xs
xsm
sm
md
lg

เป็นพ่อแม่คุณภาพได้แม้ต้องหย่าร้าง /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันครอบครัวที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลในปี 2555 มีผู้จดทะเบียนสมรสใหม่ทั่วประเทศ 314,338 คู่ มีคู่สมรสเก่าจดทะเบียนหย่า 111,377 คู่ คิดเป็นร้อยละ 35 ของคู่ที่จดทะเบียนใหม่ โดยการจดทะเบียนหย่าเพิ่มสูงกว่าช่วง 9 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 27 โดยในปี 2546 มีผู้จดทะเบียนสมรส 328,356 คู่ แต่มีคู่สมรสเก่า จดทะเบียนหย่า 80,836 คู่
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับการจดทะเบียนเพื่อใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมาย และการหย่าขาดสิ้นสุดการใช้ชีวิตคู่พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง สะท้อนถึงความเปราะบางของครอบครัวคนรุ่นใหม่

“ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นสาเหตุการหย่าร้าง มาจากผลกระทบความมั่นคงในครอบครัว พบว่า ขณะนี้สมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวใหม่ และครอบครัวเดี่ยว คือมีพ่อ แม่ ลูก ได้รับแรงกดดันมาจากการใช้ชีวิตภายนอกครอบครัว โดยเฉพาะความตึงเครียดจากสภาพการทำงานมีมากขึ้น พอกลับมาสู่ครอบครัวต่างมีความตึงเครียดกลับเข้ามาด้วย จึงมีผลกระทบในเรื่องความขัดแย้งมากขึ้น หากแก้ไขความขัดแย้งไม่ได้ก็จะนำไปสู่ทะเลาะเบาะแว้ง และยุติการใช้ชีวิตครอบครัว และมาจากปัจจัยเชิงค่านิยม ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อาจจะเริ่มรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งอีกคนก็ได้ ความอดทนจึงมีน้อยลง คิดว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งชีวิตคู่”

ปัจจุบันเราพบพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่า และแม่เลี้ยงเดี่ยวในปัจจุบันที่สามารถเผชิญปัญหาและสามารถยืนหยัดการทำหน้าที่เป็นแม่และพ่อได้อย่างดี โดยไม่คิดว่าการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงดูลูกให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากที่ไม่ยังสามารถผ่านช่วงเวลาของการแยกทางไปได้ ทำให้มีระดับความเครียดที่สูงขึ้น สูญเสียความมั่นใจในชีวิต กังวลว่าตัวเองจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ไหนจะต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายอีก บางคนถึงกับท้อแท้หมดหวังในชีวิต และยังต้องการกำลังใจในการผ่านช่วงยากลำบากของชีวิตอีกช่วงหนึ่งไปให้ได้เช่นกัน

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันรวมครอบครัวจึงอยากส่งผ่านความรักไปถึงแม่และพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเผชิญปัญหานี้ พร้อมมีพลังใจที่จะดูแลเลี้ยงดูให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพให้ได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ประการแรก  สร้างพลังใจให้ตัวเองให้ได้
เพราะพลังใจของตัวเองสำคัญที่สุด ต้องเข้มแข็งและมีสติให้ได้เร็วที่สุด แม้จะดูเหมือนยากและเป็นด่านสำคัญที่สุด แต่ส่วนใหญ่กว่าที่จะเดินมาถึงจุดของการแยกทางหรือหย่าร้าง ส่วนใหญ่ทุกคนก็ล้วนต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิตคู่จนนำมาสู่การตัดสินใจและเลือกที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไป แม้จะได้กำลังใจจากคนรอบข้างมากมายขนาดไหน ก็ไม่เท่าพลังใจของตัวเอง
ประการที่สอง  สร้างความมั่นใจให้ลูก
ต้องยืนหยัดให้ได้ในเร็ววัน เพราะพฤติกรรมและอารมณ์ของแม่หรือพ่อส่งผลโดยตรงต่อลูก ลูกสามารถซึมซับรับรู้ได้ว่าแม่หรือพ่อรู้สึกอย่างไร ต้องพยายามปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองให้ได้ก่อน เพราะความเครียดของคุณก็อาจไปลงที่ตัวลูกได้ อย่าท้อแท้หรือหมดหวังต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและมั่นคง
ประการที่สาม  บอกความจริงกับลูก
คุณควรบอกความจริงกับลูก อย่าคิดว่าลูกเล็กเกินไปหรือซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะท้ายที่สุดลูกก็ต้องรู้ความจริงอยู่ดี และถ้ารู้ความจริงจากคนอื่น ลูกจะเสียใจและรู้สึกว่าแม่หรือพ่อไม่ไว้วางใจเขา แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับวัยของลูกด้วยว่าเขาจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าวัยเด็กเล็กก็บอกลูกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าพ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แม่จะเป็นทั้งแม่และพ่อด้วย เขาอาจจะถามถึงพ่อ แต่ก็ยังไม่อาจเข้าใจเหตุผลได้ทั้งหมด ถ้าแม่ยังคงดำเนินชีวิตปกติ เขาก็สามารถปรับตัวได้
แต่ถ้าลูกโตพอจะเข้าใจเหตุผลได้แล้ว ก็อธิบายให้ลูกฟังได้ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่เข้าใจ เขาโตพอที่จะรับรู้เรื่องราวและซึมซับอารมณ์ความรู้สึกของแม่หรือพ่อได้ การร้องไห้ให้ลูกเห็นไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอ ตรงกันข้ามลูกจะได้เข้าใจด้วยว่าแม่หรือพ่อเสียใจ แต่ก็พยายามที่จะยืนหยัดเผชิญปัญหา เขาจะได้เรียนรู้ด้านที่เข้มแข็งในบทบาทของแม่หรือพ่อด้วย
ประการที่สี่ พร้อมที่จะขอความช่วยเหลือ
เมื่อตัดสินใจแล้วต้องเชื่อว่าตัวเองไม่ได้อยู่ลำพัง แม้ความเข้มแข็งจะทำให้สามารถจัดการชีวิตด้วยตัวเองได้ และพร้อมเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่อย่าคิดว่าอยู่เพียงลำพัง ยังมีคนรอบข้างที่รักคุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง พร้อมจะช่วยเหลือและเป็นกำลังใจที่ดีให้เสมอ รวมถึงลูกของคุณเองด้วย และการร้องขอความช่วยเหลือในบางด้าน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอหรือไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ เพราะบางสถานการณ์คุณก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วยด้วย
ประการที่ห้า อย่าใส่ความเกลียดชังให้ลูก
ลูกไม่ได้รับรู้เรื่องราวของคนเป็นพ่อแม่ ลูกจะมีภาพจำของพ่อและแม่ในแบบของเขา อย่าพยายามใส่ความคิดความขัดแย้ง หรือการทะเลาะเบาะแว้งในฉันท์สามีภรรยาไปใส่ให้กับลูก เพราะอย่างไรเขาก็เป็นแม่หรือพ่อลูกกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมของความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของความเป็นพ่อแม่ด้วย
ประการที่หก  วางแผนกับอดีตคู่ชีวิต
ถ้าเป็นไปได้คุณควรพูดคุยกับอดีตคู่ชีวิตของคุณแบบตรงไปตรงมาว่าจะวางแผนเรื่องลูกอย่างไร อย่าคิดเด็ดขาดว่าฉันเข้มแข็งสามารถหาเลี้ยงลูกได้ เธอไม่ต้องมายุ่ง เพราะเรื่องลูกเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ที่มีส่วนให้กำเนิดชีวิตเขา การให้ฝ่ายพ่อรับผิดชอบร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็น แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงบ้านเรามักชอบถือดีว่าลูกของฉันสามารถเลี้ยงดูได้ แต่แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้หญิงคิดเช่นนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ผู้ชายไร้ความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
ประการสุดท้าย วางแผนอนาคตของลูก
ต้องสร้างสังคมให้ลูก พยายามหากิจกรรมทำร่วมกับลูกบ่อยครั้ง อาจชวนญาติพี่น้องมาทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าเป็นลูกชายก็อาจชวนญาติผู้ชายมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้ลูกได้ซึมซับบทบาทของความเป็นผู้ชาย หรือถ้าเป็นลูกสาวก็ควรให้เขาได้เรียนรู้บทบาทของผู้ชายด้วย และหากพ่อหรือแม่ต้องการมารับลูกไปทำกิจกรรม ก็ไม่ควรกีดกัน แต่ควรส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสอยู่กับพ่อหรือแม่ด้วย จะทำให้ลูกเข้าใจชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญเข้าใจคุณด้วย
แนวโน้มโครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีความสลับซับซ้อนและเงื่อนไขของชีวิตเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายอาจต้องเลือกหนทางในการแยกทางชีวิตคู่ แต่ความเป็นแม่และพ่อจะยังคงติดตัวไปตลอด เพราะฉะนั้น เราต้องแยกบทบาทและหน้าที่ออกจากกัน ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้เผชิญอุปสรรคและพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยพลังใจที่เปี่ยมคุณภาพนะคะ
เพราะ..คุณสามารถเป็นพ่อแม่คุณภาพได้ แม้ต้องแยกทางกันค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น