xs
xsm
sm
md
lg

ศพบนถนน “สงกรานต์-ปีใหม่” 70% ดื่มก่อนตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการเผย 70% ศพบนถนนช่วงสงกรานต์-ปีใหม่ ดื่มก่อนตาย ระดับแอลกอฮอล์เฉลี่ยในเลือดสูงถึง 189 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเกือบ 4 เท่า ระบุแค่ 24 วันคนไทยตายมากกว่าอังกฤษรวมกันทั้งปี แนะจังหวัดเอาจริง ตั้งเป้าตรวจ บังคับใช้กฎหมาย

วันนี้ (7 เม.ย.) น.ส.โศภิต นาสืบ นักวิชาการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเป็นที่ 4 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตปีละ 26,312 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงอย่างสหราชอาณาจักร พบว่า คนอังกฤษตายบนถนนทั้งปีรวมกันยังน้อยกว่าคนไทยตายในเวลา 24 วัน และเป็นที่รู้กันว่าเทศกาลวันหยุดยาวคือเวลาแห่งการฆาตกรรมหมู่ของคนไทย ที่มีการดื่มสุรา เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความสูญเสีย

น.ส.โศภิต กล่าวว่า จากการศึกษาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ปี 2556 ร้อยละ 70.9 ตรวจพบปริมาณแอกอฮอล์ในเลือด โดยร้อยละ 60.1 มีระดับแอลกอฮอล์เกินที่กฎหมายกำหนดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยค่าเฉลี่ยระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขณะเสียชีวิตสูงถึง 189 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือสูงเกือบสี่เท่าของที่กฎหมายกำหนด และพบว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่ดื่มสุราก่อน และปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงใกล้เคียงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนเดินถนน และลักษณะยานพาหนะ ทั้งรถจักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เยาวชนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีที่เสียชีวิต ร้อยละ 56 ก็ได้ดื่มสุราก่อนเสียชีวิต และมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเฉลี่ยถึง 139 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ตามกฎหมายกลุ่มนี้ยังไม่ควรหาซื้อสุรามาดื่มได้

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการ สวน.กล่าวว่า ความสูญเสียจากการดื่มแล้วขับ เป็นเรื่องป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องเวรกรรม ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามลงทุนไม่ใช่น้อย แต่ไม่สามารถลดความสูญเสียได้ ดังนั้น รัฐบาลควรจริงจังมากกว่าการรณรงค์เป็นครั้งคราว โดยควรให้แต่ละจังหวัดตั้งเป้าหมายจำนวนการตรวจแอลกอฮอล์ อีกทั้งควรสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เช่น อำนาจในการเรียกให้ตรวจ อำนาจในการยึดรถ ยึดใบอนุญาต การเรียกค่าปรับ และการนำคดีขึ้นสู่กระบวนการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับผู้ที่ไม่ยอมเป่า ให้ถือว่ามีความผิดอย่างรุนแรงและลงโทษหนักกว่ารายอื่นๆ และต้องให้มีการลงโทษที่รุนแรง แน่นอน และชัดเจน รวมถึงระบบการลงโทษผู้ขายสุราร่วมด้วย เช่น กรณีที่ขายให้เด็กแล้วลูกค้าไปเกิดอุบัติเหตุจราจร การกำหนดให้มีการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในกรณีอุบัติเหตุทุกประเภท และลงโทษเพิ่มเติมหากพบว่า มีระดับแอลกอฮอล์เกินกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น