เด็กไทยใน กทม.-ปริมณฑลอ่านหนังสือมากขึ้น เกือบ 3 ใน 4 ชอบอ่านหนังสือ แต่ส่วนใหญ่นิยมอ่านการณ์ตูนมากที่สุด ร้อยละ 64 และเกือบครึ่งใช้เวลาอ่านหนังสือน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ชี้พ่อแม่ เป็นแรงบันดาลใจ และต้นแบบรักการอ่านให้ลูก
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.ได้จัดทำแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (WE VOICE) โดยสำรวจความคิดเห็นของเด็ก อายุระหว่าง 6-13 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค. 2557 จำนวน 1,124 คน เนื่องในวันหนังสือเด็กนานาชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 2 เม.ย.ของทุกปี และตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงส่งเสริมการอ่าน รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติและวันรักการอ่านด้วย
โดยจากผลการสำรวจ การอ่านหนังสือทุกประเภท ทั้งหนังสือทั่วไปและหนังสือเรียน พบว่า เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.1 ระบุว่า อ่านหนังสือการ์ตูนมากที่สุด รองลงมาคือ อ่านหนังสือจากสื่อคอมพิวเตอร์/อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 17.1 และอ่านหนังสือจากนิตยสารหรือพ็อกเกตบุ๊ก ร้อยละ 12.1 สำหรับสถานที่ในการอ่านหนังสือของเด็ก ส่วนใหญ่ร้อยละ 56 ระบุว่า จะอ่านหนังสือที่บ้าน ร้อยละ 56 รองลงมา คือ ห้องสมุดของโรงเรียน ร้อยละ 29 และห้องสมุดชุมชน ร้อยละ 11.2 และเมื่อสอบถามถึงระยะเวลาในการอ่าน พบว่า เด็กอ่านหนังสือน้อยกว่า 1 ชั่วโมงมากที่สุด ร้อยละ 44.6 รองลงมา คือ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 40.7 และ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 12.3
นางสุดใจ กล่าวต่อว่า ขณะที่ เด็กชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน มีถึงร้อยละ 72.8 ซึ่งในจำนวนนี้ระบุเหตุผลว่าชอบอ่านหนังสือเพราะมีหนังสือที่ชอบมากที่สุด ร้อยละ 57.1 และจำนวนนี้กว่าครึ่งระบุว่า ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากที่สุด ร้อยละ 53.4 รองลงมาคือ หนังสือนิทาน ร้อยละ 21.5 และหนังสือนิยาย/ซีรีย์ ดารา/บันเทิง ใกล้เคียงกัน ร้อยละ 10.2 รองลงมา ระบุเหตุผลว่าชอบอ่านหนังสือด้วยตนเอง ร้อยละ18.8 และชอบเพราะมีบุคคลต้นแบบ ร้อยละ 16.1 ตามลำดับทั้งนี้ ร้อยละ 10 สำหรับบุคคลต้นแบบที่ทำให้เด็กชอบอ่านหนังสือ คือ พ่อแม่ ร้อยละ 44 รองลงมา คือ เพื่อน ร้อยละ 23.2 และครู ร้อยละ 15.2 ขณะที่มีเด็กร้อยละ 27.2 ที่ระบุว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ โดยให้เหตุผลที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะมีอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าให้ทำ ร้อยละ 31.8 รองลงมาคือ ไม่มีหนังสือที่น่าสนใจ ร้อยละ 28.4 และอ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 16.9
“เด็กช่วงวัยประถมศึกษา 6-12 ปี เป็นวัยเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา วัยนี้จะมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา พร้อมจะออกไปสู่สังคม เด็กต้องช่วยตัวเองมากขึ้น การอ่านจึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ ผลสำรวจที่พบในครั้งนี้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการที่พ่อ แม่ยังคงมีบทบาทสูงในการเป็นต้นแบบและชี้แนะให้กับลูกได้” ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.กล่าว