บุคลากร สธ.แชร์ข้อความแบนการคีย์ข้อมูลบริการสุขภาพให้ สปสช. ชี้ระบบไม่เอื้อ ขัดระเบียบกระทรวง สสจ.นครศรีธรรมราชเผย สตง.เพ่งเล็งแล้ว หลังตรวจสอบพบใช้เงินผิดวัตถุประสงค์
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการ ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยข้อความมีลักษณะขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) หยุดการคีย์ข้อมูลด้านการบริการสุขภาพเข้าสู่ระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากมองว่าเป็นภาระ และไม่เป็นระบบ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการพิเศษต่างๆ ของ สปสช.เช่น ทำการตรวจแปบสเมียร์ จะได้งบจาก สปสช.เป็นรายบุคคล
จำนวนคนละ 25 บาท ซึ่งการเบิกจ่ายงบลักษณะนี้ขัดต่อระเบียบ สธ.เนื่องจากไม่สามารถให้บุคลากรรับเงินส่วนนี้ได้ จึงเกิดปัญหาว่า มีงบประมาณก็จริง แต่กลับเบิกจ่ายไม่ได้
“ประเด็นดังกล่าวมีการหารือกับ สปสช.มาตลอด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ข้อยุติ สปสช.ไม่ยอมปรับเงื่อนไข แทนที่จะให้รายบุคคลควรหันมาให้เป็นงบโครงการเองจะดีกว่า แบบนี้ทำให้ระบบยุ่งยาก จึงเกิดการพูดคุยกันภายในแวดวงสาธารณสุขว่า ควรหยุดการคีย์ข้อมูลลักษณะนี้ และหารือกับ สปสช.ก่อน อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ ปลัด สธ.ได้เรียกประชุม นพ.สสจ.และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการปฏิรูปกระทรวงฯ และจะพูดถึงปัญหาดังกล่าวด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เชื่อว่าน่าจะมีทางออก
ที่ดีขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว
พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นพ.สสจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตอนนี้มีภาพความทับซ้อนของภารกิจบางอย่างระหว่าง สธ.กับ สปสช.โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณบัญชี 6 หรือ บัญชีเงินค่าใช้จ่ายที่ สปสช.จะโอนมาให้กับ สสจ.เพื่อโอนต่อไปยังหน่วยบริการ ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวจะมีทั้งงบสำหรับค่าเหมาจ่ายรายหัวและงบอื่นๆ ซึ่งแต่ละประเภทจะมีระเบียบการใช้เงินที่แตกต่างกัน ล่าสุดยังมีประเด็นอื่นอีก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบและพบว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม ถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อการทำงานของหน่วยบริการ ซึ่งระหว่างที่ สธ.กับ สปสช.ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรที่สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหยุดการดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องด้านการเงินกับ สปสช.เอาไว้ เพื่อรอความชัดเจนก่อน คาดว่าเมื่อมีการหารือภายใน เม.ย.นี้น่าจะแก้ปัญหาได้