xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เผย 5 ปีมีเรื่องร้องเรียน 1,173 ราย ไกล่เกลี่ยได้ 69.9%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เผย 5 ปี ตั้ง “หน่วยรับเรื่องร้องเรียน” มีแล้ว 56 ศูนย์ มีเรื่องร้องเรียนมากถึง 1,173 ราย เตรียมขยายเพิ่ม ระบุช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการจนยุติเรื่องลงได้ถึง 69.9%

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50(5) สปสช.ต้องมีกลไก “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน” เพื่อคุ้มครองสิทธิ และเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนเข้าใจในการใช้สิทธิ เป็นช่องทางในการร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับประชาชน กรณีได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดความเสียหายจากการรับบริการ ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2556 มีจำนวน 53 ศูนย์ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และตั้งแต่ต้นปี 2557 มีการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 3 ศูนย์ รวมเป็น 56 ศูนย์แล้ว

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เข้ามานั้น ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงและการคุ้มครองสิทธิ์ให้กับประชาชน โดยปี 2552 มี 17 รายเท่านั้น ปี 2553 เพิ่มเป็น 77 ราย ปี 2554 มี 89 ราย ปี 2555 เพิ่มขึ้นถึง 463 ราย ปี 2556 มีจำนวน 482 ราย และปี 2557 จนถึงขณะนี้มี 45 ราย ซึ่งเมื่อรวมจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงขณะนี้มีแล้ว 1,173 ราย หลังรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจและสามารถยุติเรื่องได้ มีจำนวน 820 ราย หรือร้อยละ 69.90 อนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41 จำนวน 99 ราย หรือร้อยละ 8.44 ส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการควบคุมพิจารณาฯ 66 ราย หรือร้อยละ 5.63 และที่เหลือเป็นการให้ความช่วยเหลืออื่น 188 ราย หรือร้อยละ 16.03

“จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน โดยร้อยละ 50 ของหน่วยงานที่จัดตั้งยังสามารถเป็นต้นแบบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานได้ พร้อมกันนี้เห็นควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2557-2559 จึงได้มีการจัดทำแผนพัฒนาหน่วยรับเรื่อร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 4 แผนงาน ได้แก่ 1.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การรับรู้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย 2.การพัฒนารูปแบบมาตรฐานการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 3.การพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการร้องเรียน และ 4.การร่วมพัฒนาและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น