xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยยอดผู้ป่วยจากพิษไฟไหม้บ่อขยะกว่า 1 พันราย เด็กวัย 1 ปี 8 เดือนกลับบ้านแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยมีประชาชนป่วยจากมลพิษไฟไหม้ขยะที่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 16-22 มีนาคม รวมกว่า 1,200 ราย ส่วนใหญ่ระคายเคือง แสบตา ตาแดง ต้องได้รับการล้างตา ส่วนเด็กอายุ 1 ปี 8 เดือน ที่มีปัญหาปอดอักเสบติดเชื้ออาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้านแล้ว พร้อมทั้งวางแผนจัดทีมเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในประชาชน และสิ่งแวดล้อม หลังจากไฟดับแล้ว

วันนี้ (23 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ว่า วันนี้ที่ประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์มลพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ รายงานว่าเมื่อเวลา 20.00 น.วานนี้ (22 มีนาคม ) เจ้าหน้าที่สามารถดับควันไฟ บ่อขยะได้แล้ว โดยในวันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัคสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ออกไปแจกเอกสารให้ความรู้ คำแนะนำแก่ประชาชนที่อยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะ ในการปฏิบัติตัว เพื่อลดความเสี่ยง ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสควันไฟอีกระยะหนึ่ง

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า วันนี้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุข ยังออกให้บริการตรวจรักษาประชาชนที่วัดแพรกษา โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ทั้งนี้ผลรวมจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและสัมผัสควันไฟบ่อขยะที่เข้ารับการตรวจรักษา ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมทั้งที่โรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งภาครัฐบาลและเอกชน รวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-22 มี.ค.รวม 1,200 ราย ส่วนใหญ่มีอาการระคายเคืองตา แสบคอ แสบจมูก สำหรับเด็กอายุ 1 ปี 8 เดือน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรปราการ ด้วยอาการปอดติดเชื้อ ในวันนี้อาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตใกล้กลับได้แล้ว

ด้านนพ.นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ให้ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า วันนี้ผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง (PM10) วัดได้ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ทั้งนี้ภายหลังควันไฟไหม้บ่อขยะดับแล้ว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ได้วางแผนจัดมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบ 2 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพในคน โดยให้บริการตรวจสุขภาพในกลุ่มนักผจญเพลิง พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องอยู่เฝ้าสถานประกอบการ ผู้สื่อข่าว รวมทั้งประชาชนที่พักอาศัยอยู่รอบบ่อขยะ ในรัศมี 200 เมตร โดยจะนัดให้ไปรับบริการตรวจที่งานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ โดยไม่เสียค่าบริการ และ 2.การเฝ้าระวังในด้านสิ่งแวดล้อม การตรวจหาสารปนเปื้อนในน้ำ อาหาร และอากาศ เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่ประชาชนที่อยู่อาศัย


กำลังโหลดความคิดเห็น