“จาตุรนต์” ลั่นพร้อมแจง กกต. กรณี “ศศิธารา” ด้วยตนเอง ยกเว้นติดงานต่างจังหวัด ชี้หากคัดค้านการลงโทษไม่สามารถทำอะไรได้อีก และมติ อ.ก.พ.สกศ.ก็ไม่สามารถกลับมติได้เช่นกัน ยันดำเนินการตามขั้นตอนมั่นใจไม่ขัดการเลือกตั้งเพราะการสอบสวนวินัยทำมาต่อเนื่อง
วันนี้ (7 มี.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่ อ.ก.พ.กระทรวง ที่ให้ปลด น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา ออกจากราชการกรณีเอกสารจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) สูญหายและส่อว่าอาจมีความไม่โปร่งใส่ในการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) และส่งร่างคำสั่งหนังสือปลดออกหารือยังไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ว่า ขณะนี้ กกต.ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมายังกระทรวงศึกษาฯ แต่ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า กกต.จะขอให้ตนไปชี้แจงแต่ยังไม่รู้ว่าในประเด็นใด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ กกต.เคยบอกว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กกต.ให้อยู่ในอำนาจของ เลขาธิการ กกต.พิจารณาได้เลย ซึ่งเมื่อ กกต.ต้องการให้ชี้แจงตนก็พร้อม ยกเว้นกรณีที่ตนติดไปราชการที่ต่างจังหวัดก็จะมอบผู้แทนไปชี้แจงแทน
รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะมีประเด็นคัดค้านเรื่องการพิจารณาโทษของ น.ส.ศศิธารา นั้น ตนหรือ อ.ก.พ.สกศ.ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้อีกแล้ว เพราะเรื่องนี้ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการจนเสร็จสิ้น ซึ่งเมื่อ อ.ก.พ.สกศ.พิจารณาและมีมติให้ลงโทษอย่างใดไป รัฐมนตรีมีหน้าที่เพียงแค่สั่งการให้เป็นไปตามมตินั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ดำเนินการตามมติ อ.ก.พ.สกศ.ขณะที่ อ.ก.พ.สกศ.ก็ไม่สามารถที่จะกลับมติของตนเองได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น หากผู้ถูกลงโทษต้องการจะอุทธรณ์จริงจะต้องไปรอร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) หรือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
“ผมเห็นว่าเรื่องของการลงโทษให้ปลด น.ส.ศศิธารา ไม่เป็นการขัดกฎหมายการเลือกตั้งเพราะกรณีของ น.ส.ศศิธารา เป็นการดำเนินการทางวินัยโดย อ.ก.พ.สกศ.และเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาก่อนที่จะมีการยุบสภา เพราะฉะนั้น เมื่อคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้สรุปผลสอบเสร็จและเสนอมารัฐมนตรีก็มีหน้าที่ที่จะต้องรีบนำเข้าสู่การพิจารณาใน อ.ก.พ.สกศ.โดยเร็ว ไม่ใช่จะมาชะลอไว้เพราะมีการยุบสภา” นายจาตุรนต์ กล่าว