xs
xsm
sm
md
lg

ติดแชต เล่นสมาร์ทโฟน ปิดไฟดูทีวีเสี่ยงต้อหิน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนสังคมก้มหน้า จิ้มสมาร์ทโฟน แชต ปิดไฟดูทีวี ทำม่านตาขยาย จนดวงตาเกิดความเครียด ล้า ส่งผลความดันลูกตาสูงปรี๊ด เสี่ยงโรคต้อหินถามหา สธ.ชี้ป่วยแล้วมักไม่รู้ตัว รักษาไม่ทันอาจตาบอดได้ ระบุรักษาความดันตาหาย แต่สายตาไม่กลับคืน แนะสังเกตอาการเตือน ทั้งตาแห้ง น้ำตาไหล ตาพร่า ควรหยุดเล่น

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 6 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันต้อหินโลก ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุให้ตาบอดอันดับ 2 ของโลกรองจากต้อกระจก ที่น่าห่วงคือผู้ป่วยร้อยละ 90 มักไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการจะค่อยเป็นค่อยไป สำหรับไทยข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคต้อหินทั่วประเทศ 17,687 ราย ชายหญิงพอๆ กัน พบมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,831 ราย โดยคนปกติอายุ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นโรคต้อหินร้อยละ 1 แต่เพิ่มมากขึ้น 5-7 เท่าในผู้ป่วยเบาหวาน แนวโน้มผู้ป่วยจึงมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ไทยมีประมาณ 3.5 ล้านคน สธ.ได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศรณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาปีละ 1 ครั้ง อายุ 60 ปีขึ้นไปปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินได้ โดยจัดบริการตรวจตาให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย

ด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า โรคต้อหินจะมีการทำลายของเส้นประสาทตาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญเกิดจากความดันในลูกตาสูง ทั้งจากการสร้างน้ำในลูกตามากเกินไปหรือระบายออกน้อยเกินไป อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ คนเป็นจะไม่รู้ตัว ขึ้นกับชนิดของต้อหิน ทั้งนี้ ต้อหินมีผลให้ลานสายตาแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการรักษาและได้ผลดี ทั้งยาหยอดตา เลเซอร์ ผ่าตัด มีเครื่องมือที่สอดไปเพื่อระบายน้ำในลูกตา ที่สำคัญคือต้องตรวจและรักษาทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนสูญเสียการมองเห็น แม้จะรักษาความดันได้เป็นปกติ แต่สายตาจะไม่กลับคืนเป็นปกติ หากบอดแล้วบอดเลย หรือตาพร่ามัวตลอดชีวิต

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดต้อหินอีกอย่างคือความเครียด ทำให้เกิดความดันลูกตาขึ้นได้ ซึ่งการใช้เสพติดเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ มือถือ และแท็บเล็ต เพื่อความบันเทิง ดูข่าวสาร และพูดคุยต่างๆ มากขึ้น หรือ “เทคโนโลยีซินโดรม” ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดจุดรับภาพจอตาเสื่อมหรือตาบอด แต่ก็เป็นเหตุหนึ่งทำให้เกิดความเครียดและล้าของสายตาได้ โดยอาการเตือนคือแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล กะพริบตาบ่อย ปวดเมื่อยล้าที่กระบอกตา สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัด บางคนมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย เนื่องจากต้องเพ่งภาพหรือตัวอักษรขนาดเล็กและอยู่ในจอ ทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปิดไฟดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ การส่องไฟฉายอ่านหนังสือ ทำให้กล้ามเนื้อตาล้า ตาแห้ง เครียดตลอดเวลา ยิ่งรายละเอียดเยอะ ตายิ่งทำงานหนัก

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า วิธีรักษาด้วยตนเองคือให้นอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำจะให้ผลดีที่สุด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในตา หรือทำประคบเย็น โดยให้ใช้ผ้าขนหนูพับ 3 ส่วน นำไปแช่น้ำจนเย็น บิดหมาดๆ วางปิดตั้งแต่ขมับให้ทับพาดผ่านดวงตา เว้นสันจมูก ไปถึงขมับอีกข้าง ถ้าเย็นเกินไปให้เอาออก หากหายเย็นให้นำไปแช่น้ำเย็นใหม่อีกครั้ง ทำติดต่อกัน 20 นาที พัก 1 นาที วันละ 2 หน จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา นอกจากนี้ ควรเปิดไฟดูทีวี อ่านหนังสือในที่แสงสว่างเพียงพอ ดีที่สุดคือใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็นและปลอดภัย คือใช้ประมาณ 25 นาที พัก 5 นาที หรือใช้ 30 นาที พัก 10 นาที เปลี่ยนอิริยาบถสลับกันไป

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 พบคนไทย อายุ 6 ปีขึ้นไป ดูทีวี 57 ล้านคน และล่าสุดปี 2555 คนไทยใช้คอมพิวเตอร์ 21 ล้านกว่าคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 44 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ใน กทม.มากสุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75 ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 ต่ำสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 64


กำลังโหลดความคิดเห็น