ขายซองประมูลแท็บเล็ต ชั้น ป.1 ในโซน 1, 2 แค่ 2 วันแรกคึกคัก กว่า 10 บริษัทแห่ร่วมแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทของไทย ขณะที่ “เสิ่นเจิ้น สโคป” จากจีนโดดมาร่วมด้วย
วันนี้ (4 มี.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศขายซองประกวดราคาแท็บเล็ต ระหว่างวันที่ 3-11 มี.ค.เพื่อทดแทนการจัดซื้อในโซนที่ 1 และ โซนที่ 2 ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ในปีการศึกษา 2556 อย่างไรก็ตาม เพิ่งเข้าสู่วันที่ 2 ของการประกาศขายซองฯ จึงยังไม่มีความคืบหน้ามาก ส่วนการประกวดราคาแท็บเล็ตครั้งใหม่นี้จะมีปัญหาอีกหรือไม่นั้น หากทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไรไม่ว่าจะเป็นการกำหนดสเปกของเครื่องแท็บเล็ตก็มีการประกาศไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สพฐ.ยกเลิกสัญญาจัดซื้อแท็บเล็ตกับบริษัท เสิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด ซึ่งชนะการประมูลแท็บเล็ตระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในโซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) มีจำนวน 431,105 เครื่อง มูลค่า 842 ล้านบาทและโซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 373,637 เครื่อง เป็นเงิน 786 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์นั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้เริ่มเปิดประกวดราคาครั้งใหม่แล้ว โดยประกาศขายซองเอกสารการประกวดราคาแท็บเล็ตชั้น ป.1 โซน 1 และ โซน 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 11 มีนาคม 2557 ปรากฏว่าเปิดขายซองได้ 2 วัน มีบริษัทเอกชนสนใจมาซื้อซองทั้งหมด 10 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัทชั้นแนวหน้า 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท สามารถ เทลคอม จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 4.บริษัท ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ อะโคเนติค รวมทั้งบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลอปเมนต์ จำกัด (Shenzhen Scope Scientific Development Co.,Ltd) จากประเทศจีน ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตและจัดส่งแท็บเล็ตนักเรียน ป.1 กว่า 800,000 เครื่อง ให้กับประเทศไทย ในช่วงที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดตัวโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2555
แหล่งข่าวจาก ศธ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อาจจะมีบริษัทมาซื้อซองเพิ่มเติมอีก เพราะในการประมูลครั้งที่แล้วมีผู้มาซื้อซองทั้ง 4 โซน ประมาณ 50 ราย แต่ยื่นซองจริงเพียง 13 ราย อย่างไรก็ตามบริษัทที่มาซื้อซองในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากประเทศไทย มีเพียงบริษัท สโคปฯ เท่านั้นที่เป็นบริษัทต่างชาติ และอาจมียักษ์ใหญ่จากประเทศจีนมาซื้อซองเพิ่มเติมอีก เพราะฉะนั้นมีแนวโน้มสูงว่า การผลิตและจัดส่งแท็บเล็ตในโซน 1 และ 2 น่าจะเสร็จทันกำหนดที่ สพฐ.วางไว้ เพราะบริษัทที่เข้าประมูลหลายรายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพสูง
อนึ่ง หลังจากเปิดขายซองแล้ว สพฐ.กำหนดให้วันที่ 19 มี.ค.บริษัทยื่นซองเอกสารและเครื่องแท็บเล็ตของชั้น ป.1 โซน 1 และ โซน 2 โดยในวันเดียวกัน สพฐ.จะทำการตรวจสอบเอกสาร ทดสอบคุณสมบัติทางเทคนิคของเครื่องแท็บเล็ต รวมทั้งทดสอบการตกกระแทก หรือ Drop Test ของเครื่องแท็บเล็ต และในวันที่ 26 มีนาคม จะเปิดให้มีการประกวดราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน ที่บริษัท สวนกุหลาบ จำกัด