xs
xsm
sm
md
lg

กยศ.บ่มิไก๊ ปล่อย นร.เบี้ยวหนี้ตั้งแต่ 2539 รวม 3.8 หมื่นล.จ่อใช้เลข ปชช.ลากตัวถึงบ้าน-ที่ทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กยศ.ทำตัวแม่พระ ไม่จัดการคนเบี้ยวหนี้ อึ้ง! ค้างเติ่งตั้งแต่ปี 2539 ค้างชำระรวมถึง 3.8 หมื่นล้านบาท องคมนตรีซัดเป็นเหตุให้รัฐบาลตัดงบ จวกตั้งเกณฑ์กู้ยืมเบนเป้าหมายเดิมไม่ใช่เพื่อเด็กยากจนจริง แต่กลับให้ลูกไฮโซไฮซ้อกู้ได้ ทั้งที่ไม่จำเป็น ยันต้องจัดการคนโกง โกงทั้งเงินทั้งโอกาสรุ่นน้อง ด้าน ผู้จัดการ กยศ.จ่อลากตัวคนโกงจากเลขบัตรประชาชน ตามถึงบ้านและที่ทำงาน

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กทม. ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของสถานศึกษากับความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานกองทุน” ในการสัมมนาพิเศษระดับผู้บริหารบทบาทของสถานศึกษาที่ดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า เป้าหมายเดิมที่ก่อตั้งกองทุน กยศ.เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กยากจน แต่ขณะนี้มีการเบนออกไปจากเดิม ด้วยนโยบายการเมืองจะมีการขยายให้เด็กฐานะปานกลางและร่ำรวยกู้ยืมเงินได้ด้วย ทั้งที่ถือว่ามีโอกาสทางการศึกษาอยู่แล้ว กยศ.ควรกลับไปสู่เป้าหมายเดิมเพื่อเด็กยากจนจริงๆ โดยควรแก้ไขเกณฑ์รายได้ของครอบครัวใหม่ให้เหมาะสม ด้วยการหาค่าเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนไทย และให้เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้มีโอกาสได้กู้ยืม

กยศ.ควรคิดอัตราดอกเบี้ยที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการกองทุน ที่สำคัญต้องจัดการกับผู้ที่เบี้ยวหนี้อย่างจริงจัง ต้องเลิกเกรงใจคนโกง เพราะเงิน กยศ.เป็นเงินภาษีที่คนไทยทุกคน รวมทั้งคนยากจนจ่ายมา คนที่เบี้ยวหนี้คือคนโกง ทั้งโกงเงินและโกงโอกาสรุ่นน้อง ต้องเลิกเกรงใจ เมื่อเรามีกฎก็ต้องรีบจัดการกับคนกลุ่มนี้ เพื่อให้มีเงินมาปล่อยกู้แก่รุ่นต่อไป นอกจากนี้ กยศ.ต้องพยายามประสานกับสถานศึกษาอบรมจิตสำนึกผู้รับทุนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม จะได้ไม่เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้” องคมนตรี กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวอีกว่า หาก กยศ.สามารถตามหนี้ส่วนใหญ่กลับมาได้ แม้จะถูกตัดงบประมาณไปก็จะไม่ได้รับผลกระทบมาก ที่ผ่านมา กยศ.ปล่อยให้มีผู้ค้างชำระจำนวนมาก ดังนั้น การที่รัฐบาลตัดงบฯ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการบริหารจัดการที่มีปัญหา ซึ่งเมื่อรัฐบาลเห็นว่าตัวเลขในการติดตามหนี้ยังน้อย และจะมาของบฯ เพิ่ม ทางรัฐบาลก็มีสิทธิ์ที่จะไม่พิจารณาให้

ด้าน ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า กยศ.มีปัญหาเรื่องการติดตามหนี้ค้างชำระ ซึ่งขณะนี้มีเงินครบกำหนดที่จะต้องใช้คืนจำนวน 72,412.13 ล้านบาท มีผู้กู้ค้างชำระ 38,238.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยเมื่อแบ่งตามสังกัดพบว่า จะเป็นผู้กู้ที่เคยศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ค้างชำระมากที่สุด ร้อยละ 65 รองลงมา มหาวิทยาลัยเอกชนร้อยละ 62 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)​ ร้อยละ 60 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร้อยละ 55 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร้อยละ 52 และมหาวิทยาลัยรัฐร้อยละ 44 กยศ.จึงขอให้สถาบันการศึกษาช่วยรณรงค์เรื่องสร้างจิตสำนึกให้รุ่นพี่ที่เรียนจบ และครบกำหนดการชำระหนี้เร่งชำระเงิน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนที่จะให้โอกาสรุ่นน้องได้กู้ยืมต่อไป

ปีนี้ กยศ.จะเริ่มกระบวนการตรวจสอบผู้ค้างชำระจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้ทราบที่อยู่และที่ทำงานผู้กู้ เพราะที่ผ่านมาบางคนมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่จึงไม่สามารถติดตามได้ ขณะเดียวกัน ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง เพื่อให้ตรวจสอบลูกจ้างตนเองที่กู้เงิน กยศ.ให้รีบชำระคืน และในปี 2561 จะเริ่มนำชื่อของผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร” ดร.ฑิตติมา กล่าว

ดร.ฑิตติมา กล่าวว่า ส่วนกรณีถูกตัดงบ กยศ.ได้ดำเนินการของบฯกลางแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงภาวะไม่ปกติ ซึ่งในส่วนของผู้กู้รายเก่าที่ยังขาดงบฯ อยู่ 710 ล้านบาทไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในส่วนของผู้กู้รายใหม่ที่ยังขาดงบอยู่ 1,408 ล้านบาทนั้น จะต้องดูว่าเป็นงบฯผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ปีนีี้จะไม่มีงบฯ ให้ผู้กู้รายใหม่เลย สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สามารถไปกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ที่เคยกู้ยืมเงิน กยศ.ก็สามารถเปลี่ยนมากู้เงิน กรอ.ได้ ขณะที่ผู้กู้รายใหม่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น เท่าที่ทราบทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีทุนจำนวนมาก จึงคิดว่าทุนเหล่านี้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ตนจะนำปัญหาในเรื่องการดำเนินงาน กยศ.ทั้งหมดเข้าหารือในคณะกรรมการ กยศ.วันที่ 27 ก.พ.แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปหรือแนวทางแก้ไขปัญหาหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น