xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! นศ.ร้อยละ 0.8 จาก 14 เบี้ยวหนี้ กยศ.ระบุไม่คืนไม่ผิด ด้าน ทปอ.ชี้เร่งสร้างจิตสำนึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลสำรวจทัศนา นิสิต นศ.ต่อการโกง กยศ.ของ ทปอ.พบ นิสิต นศ.ร้อยละ 0.8 จากร้อยละ 14 เคยกู้ กยศ.แต่ไม่เคยใช้หนี้คืน หนำซ้ำคิดว่าไม่คืนเงินก็ไม่ผิด หรือผิดแต่ไม่ร้ายแรง ทปอ.ชี้ต้องเร่งสร้างจิตสำนึก ขณะที่ ผู้จัดการ กยศ.แจงยังไม่มีความคืบหน้าจากการเสนอของบกลาง ปี 57 เพื่อปล่อยกู้ เผยทำโครงการรณรงค์ชำระหนี้ 1 พ.ย.56-มี.ค.57 มีผู้ชำระแล้วกว่า 1.3 แสนราย มูลค่า 700 ล.บาท แต่แท้จริงต้องการให้เคลียร์หนี้สินค้างก่อน ชี้ต่อไปจะส่งชื่อผู้ค้างชำระสู้ระบบเครดิตบูโร ด้วย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยผลโพลการสำรวจเรื่องทัศนศึกษาของนิสิตนักศึกษาต่อการทุจริต การโกง เกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. โดยสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษา จำนวน 5,654 คน จาก 23 มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ทปอ.ผลปรากฏว่านิสิตนักศึกษามากกว่าร้อยละ 60 ไม่เคยกู้ยืมเงิน กยศ.นิสิตนักศึกษา ร้อยละ 21 อยู่ระหว่างการกู้ยืมเงิน กยศ.และในกลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 1 คาดว่าจะไม่สามารถชำระคืนเงิน กยศ.ได้ภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ มีนิสิต นักศึกษา อีกร้อยละ 14 ที่เคยกู้ยืมเงิน กยศ.ซึ่งในจำนวนนี้มีนิสิตนักศึกษาประมาณร้อยละ 0.8 ที่ไม่เคยผ่อนชำระคืนเลย ร้อยละ 0.4 เคยชำระคืนบางส่วนแต่ไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด โดยนิสิตนักศึกษาที่ไม่ชำระหนี้คืนเงินกู้ กยศ.ร้อยละ 3 คิดว่าการไม่คืนเงินไม่ผิด แต่ร้อยละ 19 คิดว่าผิดไม่ร้ายแรง ส่วนมาตราการที่นิสิตนักศึกษาเห็นว่าจะต้องดำเนินการมากที่สุดกับผู้ที่กู้เงินจาก กยศ.แล้วไม่ชำระคืน ได้แก่ กยศ.ควรดำเนินการทางกฏหมาย รองลงมาควรมีการประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึก และส่งจดหมายเตือนเป็นประจำ

 
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจยังพบว่ามีนักศึกษาบางส่วนที่อยู่ระหว่างการกู้ยืม ระบุว่าไม่สามารถชำระคืนได้ในเวลากำหนด แม้จะมีสัดส่วนน้อย แต่แสดงว่านักศึกษามีแนวโน้มจะไม่ชำระคืนเงินกู้ยืม กยศ.ขณะที่มหาวิทยาลัยได้รับผลประโยชน์ในแง่จำนวนนักศึกษาและค่าหน่วยกิตที่หักได้จาก กยศ.โดยตรง ควรจะมีความรับผิดชอบ เช่น จัดอบรมให้นักศึกษาที่กู้ยืมมีสำนึกรับผิดชอบ และตระหนักถึงความสำคัญในการชำระหนี้คืน เพื่อรุ่นหลังจะได้มีเงินให้กู้ยืมได้ และควรจัดเป็นประจำหรืออย่างน้อยก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกผู้กู้ยืม ส่วนการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ไม่ชำระเงินคืนนั้น กลุ่มนิสิตนักศึกษาเห็นว่าอาจจะไม่เหมาะสม เบื้องต้นควรจะติดตามทวงถามก่อน เพราะผู้ค้างชำระเงินบางกลุ่มอาจมีปัญหาเรื่องเงินจริงๆ ดังนั้น หาก กยศ.แจ้งให้ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้างชำระหนี้ทราบถึงกระบวนการประนอมหนี้ จะช่วยให้มีการการผ่อนชำระหนี้คืนได้มากขึ้น

 
ด้าน ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังจากที่ กยศ.ได้เสนอของบกลางไปแล้ว ในเวลานี้คงต้องเร่งกระตุ้นจิตสำนึกผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ โดยได้จัดโครงการรณรงค์ชำระหนี้กองทุน กยศ.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ย.56 - 31 มี.ค.นี้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ เร่งดำเนินการชำระเงินคืนให้แก่กองทุนฯ โดยการชำระคืนในช่วงเวลานี้จะได้รับสิทธิพิเศษ ดังนี้ 1.กรณีไม่ค้างชำระหนี้ ถ้ามาปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนหนี้ร้อยละ 3.5 ของเงินต้นที่มาปิดบัญชี และ 2.กรณีค้างชำระ ถ้ามาชำระเงินงวดที่ค้างทั้งหมดจะได้รับการลดเบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ร้อยละ 100 หากมาปิดบัญชี จะได้รับการลดเบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ร้อยละ 100 รวมทั้งจะได้ลดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ยืมอีกร้อยละ 50

 
“ตั้งแต่เปิดโครงการมามีผู้กู้มาชำระเงินคืนกองทุนฯ ประมาณ 130,000 ราย รวมเป็นเงินกว่า 700 ล้านบาท แต่จากตัวเลขดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะ กยศ.ต้องการให้ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระคืนมาเคลียร์หนี้สินที่ค้างไว้ก่อน เพราะจะได้ไม่โดนฟ้องร้อง อีกทั้งต่อไปจะต้องส่งรายชื่อผู้กู้ทุกคนเข้าระบบข้อมูลเครดิตบูโรแล้วด้วย ดังนั้นหากผู้กู้มาเคลียร์แล้วก็ถือเป็นการตั้งต้นใหม่และจากนั้นก็ชำระเงินตามงวดให้หมด ซึ่งก็จะไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ยังมีเวลาเหลืออีกประมาณ 1 เดือน หากมีผู้กู้มาชำระหนี้คืนกันเป็นจำนวนมาก จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องงบ กยศ.ที่จะปล่อยกู้ในปีการศึกษา 2557 ได้ด้วย” ดร.ฑิตติมา กล่าวและว่า ส่วนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่เชื่อว่านักเรียนในสังกัด สช.จะเบี้ยวหนี้มากที่สุด ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ส่วนกรณีที่ระบุว่าไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งจาก กยศ.นั้น ต้องชี้แจงว่า สถานศึกษาทุกแห่งจะอยู่ในการดูแลของคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่หนึ่ง ซึ่ง สช.ก็อยู่ในคณะนี้ และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่สองดูแล ดังนั้น เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการดำเนินการกองทุนฯ ผู้ที่อยู่ในคณะอนุกรรมการต้องทราบทุกคนและทราบมาโดยตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น