xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! กระเป๋ารถเมล์หญิง 1 ใน 4 ต้องใส่แพมเพิร์ส เหตุไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ แถมโรครุมเร้าเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โพลชี้กระเป๋ารถเมล์หญิง ขสมก. สุขภาพแย่โรคภัยรุมเร้า เครียดปัญหารถติด พบ 20% เป็นนักดื่ม อึ้ง! 1 ใน 4 ต้องใส่แพมเพิร์สทำงาน เหตุไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ หลายรายเลือกวิธีกลั้นปัสสาวะจนระบบขับถ่ายมีปัญหา ซ้ำร้ายอู่รถไม่มีห้องน้ำบริการ พบมีรอบเดือนยิ่งหมักหมมจนส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปากมดลูก แถมต้องทำงานล่วงเวลา 16 ชม.ต่อวัน วอนจัดสวัสดิการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย หน้าที่-ตารางงานที่เหมาะสม

วันนี้ (21 ก.พ.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ นางชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวในงานเสวนา “ตีแผ่วิกฤตการทำงาน พนักงานหญิง ขสมก.” จัดโดย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ว่า ผลสำรวจคุณภาพชีวิตพนักงานหญิงใน ขสมก. จำนวน 761 ราย อายุ 20 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2556 - 31 ม.ค. 2557 พบว่า ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถ เกือบครึ่งหรือ 43.3% ต้องทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการรับภาระดูแลครอบครัวเพียงลำพัง

นางชุติมา กล่าวว่า พบกลุ่มตัวอย่างกว่า 94.3% เกิดความเครียดจากปัญหารถติดต้องอยู่บนรถเมล์และบนท้องถนนเป็นเวลานาน รองลงมา 93.3% เหนื่อยจากการทำงานหรือเดินทาง 90.9% มีปัญหากล้ามเนื้ออักเสบ/กล้ามเนื้ออ่อนแรง 90.3% ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านสุขภาพ 80.8% เป็นโรคกระเพาะ 79.6% เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะเพราะกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ 72.8% ระบบขับถ่ายมีปัญหา ขณะที่ 1 ใน 4 หรือ 28.4% ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูประหว่างทำงานเพราะไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ คือถูกเลือกปฏิบัติจากหัวหน้างาน ถูกกดดันจากการทำงาน และมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

จากปัญหาทั้งเรื่องงาน ครอบครัว และแรงกดดันต่างๆ ทำให้พนักงานเกิดความเครียดไม่มีพื้นที่ระบายทุกข์และไม่ได้รับการแก้ปัญหา หลายรายหาทางออกด้วยการดื่มสุรา โดยพบว่า 20.1% ดื่มบ่อย และ 22.5% ดื่มเพราะเครียดต้องการคลายความทุกข์ สำหรับข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต กลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ต้องการให้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะห้องน้ำสะอาด มีการจัดตารางเวลางานที่เหมาะสม ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพ และส่งเสริมให้พนักงานมีเวลาดูแลตัวเอง” นางชุติมา กล่าว

นางสาววัชรี วิริยะ อายุ 54 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก.กล่าวว่า ตนทำงานที่นี่มากว่า 22 ปี ใน 1 วัน ต้องวิ่งรถประมาณสองรอบครึ่ง หรือ 13-16 ชั่วโมงต่อวัน เส้นทางจากอู่แพรกษา สมุทรปราการ ปลายทางท่าช้าง สนามหลวง ตลอดเส้นทางต้องเจอปัญหารถติด อีกทั้งปลายทางไม่มีห้องน้ำไว้คอยบริการจนต้องกลั้นปัสสวะ ทำให้ท่อปัสสวะอักเสบ ตอนนี้ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำงาน ยิ่งวันไหนที่มีรอบเดือนจะปวดท้องทรมานมาก และเมื่อปี 2547 เคยประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ คือมีรถตัดหน้า พนักงานขับรถต้องเบรกกะทันหัน ส่งผลให้มีปัญหาหมอนรองกระดูกช่วงหัวเข่าฉีก ข้อต่อร้าวต้องผ่าตัดใส่เหล็กและสะโพกเคลื่อน

ล่าสุดแพทย์เพิ่งพบว่ามีเนื้องอกที่มดลูกจึงตัดสินใจผ่าตัด เมื่อพักรักษาตัวดีแล้ว จึงกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมเพราะไม่มีทางเลือกทั้งที่แพทย์ก็แนะนำไม่ให้ทำงานหนัก ทั้งนี้อยากให้กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นปัญหาสุขภาพของพนักงานอย่างจริงจัง และมีนโยบายปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามความเหมาะสม มีสวัสดิการที่เพียงพอทั่วถึง” นางสาววัชรี กล่าว

นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ทางสหภาพฯได้นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงานมาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ซึ่งเราอยากเห็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อพนักงาน เช่น ห้องน้ำสะอาด ถนนปลอดภัย มีรถรับส่งพนักงาน มีสถานพยาบาล มีที่ออกกำลังกาย มีการอบรมพนักงาน ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง และตรวจวัดแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด รวมถึงมีคณะกรรมการด้านความปลอดภัยเพื่อประชุมหารือร่วมกันทุกเดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเข้าไปยื่นข้อเสนอกับฝ่ายบริหารและจะขอเข้าพบนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น