xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน อาจช่วยให้ผู้หญิงอายุยืนขึ้น

การรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน คือ การรับประทานอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี และปลา ลดอาหารจำพวกเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป บริโภคไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันมะกอก รวมทั้งลดไขมันอิ่มตัวที่อยู่ในเนื้อสัตว์ติดมัน และพวกเบเกอรี่ ฯลฯ ให้น้อยลง

ทั้งนี้มีรายงานวิจัยล่าสุด ที่ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติและสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine พบว่า สตรีวัยกลางคนที่บริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งดีต่อหัวใจ จะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวขึ้น

โดยเซซิเลีย ซามีรี หัวหน้าทีมวิจัย จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ฝรั่งเศส ได้ศึกษาโภชนาการและบันทึกทางการแพทย์ของสตรีกว่า 10,000 คน อายุ 50 - 60 ปี ที่ไม่เป็นโรคเรื้อรัง พบว่า 40% ของสตรีวัยกลางคนที่บริโภคอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน มักมีอายุยืนกว่า 70 ปีโดยไม่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคเรื้อรังอื่นๆ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต และจากงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ก็พบว่า ผู้ชายก็ได้รับผลดีเช่นกัน

เตือน “ชาเขียว” อาจมีฤทธิ์ต้านยา “ความดันโลหิตสูง”

งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารเภสัชวิทยาและการบำบัดโรค เผยว่า การดื่มชาเขียวอาจส่งผลต่อยานาโดลอล (Nadolol) ซึ่งใช้รักษาความดันโลหิตสูง ให้ออกฤทธิ์น้อยลง

โดยทีมวิจัยให้อาสาสมัคร 10 คน กินยานาโดลอลขนาด 30 มิลลิกรัม คนละ 1 เม็ด หลังจากที่ได้ดื่มน้ำเปล่าหรือชาเขียว 3 ถ้วยต่อวัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่า กลุ่มคนที่ดื่มชาเขียวมีระดับยาในเลือดต่ำกว่ากลุ่มคนที่ดื่มน้ำเปล่าถึง 76% ซึ่งคาดว่า ส่วนประกอบในชาเขียวออกฤทธิ์ต้านการดูดซึมตัวยาในลำไส้

แต่สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกากล่าวว่า ผลวิจัยนี้ทำในกลุ่มตัวอย่างเพียง 10 คน และจำกัดเฉพาะชาเขียวและยานาโดลอลเท่านั้น ไม่รวมถึงการกินยาชนิดอื่นหรือการดื่มชาดำ และแม้ผลวิจัยจะชี้ให้เห็นถึงระดับยานาโดลอลที่ลดลงในคนไข้ที่ดื่มชาเขียว แต่ยังไม่อาจสรุปว่ามีความเกี่ยวข้องกัน จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ความอ้วนอาจทำให้ตายเร็วขึ้น!!

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ความอ้วนส่งผลเสียต่อร่างกายมากมาย และงานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขแห่งอเมริกา ก็ได้ตอกย้ำว่า คนอ้วนจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่น้ำหนักปกติเกือบ 4 ปี และคนอ้วนวัยกลางคนมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ทั้งนี้ ความอ้วนทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆหรือโรคหัวใจ คนอ้วนจะเสียชีวิตเร็วขึ้น 3.7 ปีด้วยโรคต่างๆ และเสียชีวิตเร็วขึ้น 1.7 ปีด้วยโรคหัวใจ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่น้ำหนักปกติ โดยความเสี่ยงสูงสุดจะเกิดในคนอายุระหว่าง 45-64 ปี ที่จะเสียชีวิตเร็วขึ้น 7.1 ปี ด้วยโรคต่างๆ และเสียชีวิตเร็วขึ้นถึง 12.8 ปีด้วยโรคหัวใจ

ดร.ซูซาน สไตน์บอม อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเลน็อกซ์ ฮิลล์ ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองว่า ความอ้วนเป็นโรค เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”

แพทย์แนะปรับพฤติกรรมทำงาน รักษา"โรคออฟฟิศซินโดรม”

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ปัจจุบัน คนเมืองราว 10 % มีภาวะเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงาน เช่น การนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม ทำให้เกิดอาการทางกาย เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขนหรือข้อมือ และสายตา รวมทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น

ส่วนอาการทางใจ คือ มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน ให้ความสนใจแต่เฉพาะเรื่องของการทำงาน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงานและครอบครัว

ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว เบื้องต้นสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยปรับพฤติกรรมด้วยการใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรมีการผ่อนคลายในระหว่างทำงาน รวมทั้งหันมาดูแลสุขภาพ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

อันตราย..บาดเจ็บที่ศีรษะ จะส่งผลร้ายตลอดชีวิต

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสถาบันคาโรลินสกา ประเทศสวีเดน ได้ทบทวนข้อมูลทางการแพทย์ของสวีเดนระหว่างปี 1969-2009 พบว่า อัตราการตายก่อนวัยอันควรจะสูงเป็น 3 เท่าในคนที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ขณะคนที่มีอาการทางจิตมาก่อนและได้รับบาดเจ็บ อัตราการตายจะพุ่งเป็น 4%

สาเหตุทั่วไปของการตายก่อนวัยอันควร ในหมู่คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน คือ การฆ่าตัวตาย การถูกทำร้าย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก เช่น รถชน ซึ่งคาดว่า อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ทำให้เครือข่ายระบบประสาทในสมองเสียหายอย่างถาวร และอาจส่งผลให้การตัดสินใจและความสามารถที่จะโต้ตอบสถานการณ์ใหม่ๆของบุคคลนั้น ผิดเพี้ยนไป

ขณะที่ศาสตราจารย์ฮูว์ วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการร่วมแห่งศูนย์วิจัยจิตประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเอ็กเซตเตอร์ กล่าวว่า “แม้ว่าจำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะนั้น ผลสืบเนื่องที่ร้ายแรงที่สุดคือ การเสียชีวิต แต่ก็ยังมีอัตราส่วนน้อยเมื่อเทียบกับคนที่มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งบางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้”

กินวิตามินซีมากเกินไป ส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร

ร่างกายคนเราต้องการวิตามินซี เพื่อช่วยให้แผลหายดี บำรุงกระดูก ฟัน หลอดเลือด และผิวหนังให้แข็งแรง เสริมภูมิคุ้มกันโรค และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการแก่และเกิดโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจ มะเร็ง ข้ออักเสบ

ในผู้ใหญ่ ควรได้รับวิตามินซีรวมกันสูงสุดไม่เกินวันละ 2,000 มก. หรือมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งไม่เกิดผลข้างเคียง แต่มีการพิสูจน์แล้วว่า การบริโภควิตามินซีในขนาดสูง จะส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว นอนไม่หลับ และเกิดนิ่วในไต

เพราะฉะนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีตามธรรมชาติ เช่น บร็อคโคลี ส้ม มะนาว มะละกอ สตรอว์เบอร์รี สับปะรด ฯลฯ จึงต้องรับประทานให้พอดี ไม่มากจนเกินไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย ธาราทิพย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น