xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมคนอีกมากยังเข้าไม่ถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิมิตร์ เทียนอุดม

หากเปรียบเทียบนวัตกรรมการรักษาเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ เราก็จะพบว่าเอชไอวี/เอดส์ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากโดยจะเห็นว่ากว่ายี่สิบปีที่สังคมไทยเริ่มรู้จักเอดส์นั้น วงการแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างคิดค้นวิธีรักษาเพื่อหยุดยั้งการเสียชีวิตของผู้ป่วยเอดส์และพร้อมกันนั้นก็ได้พยายามที่จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้มีการพระราชทานรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ให้กับนักวิจัย 4 ท่านที่คิดค้นเรื่องกระบวนการทำงานของยาต้านไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายและผลักดันให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเริ่มยาตั้งแต่ยังไม่ป่วยเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายครับว่าในขณะที่วิวัฒนาการด้านการรักษาของเราดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่ายังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา ถ้าดูจากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขก็คือใน 500,000 คนของผู้ติดเชื้อบ้านเรา มีถึง 250,000 คนที่ยังไม่ได้รับการรักษา และยิ่งน่าตกใจว่าในจำนวนนี้มีผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วด้วย

ตัวอย่างที่เราเจอจากการเปิดบริการให้คำปรึกษาเอชไอวี/เอดส์ผ่านทางสายด่วน 1663 และเฟซบุ๊คแฟนเพจ www.facecook.com/1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ คือ หลายคนไม่ทราบจริงๆ ว่าติดเชื้อแล้วจะต้องทำอย่างไร มียารักษาหรือไม่ ที่ไหนรับรักษา และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม บางรายเพราะความไม่รู้เหล่านี้ทำให้ปล่อยเวลาเนิ่นนานจนกระทั่งป่วย ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากเพราะบ้านเรามีการรักษาเอชไอวี/เอดส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจเลือด การจ่ายยาต้านไวรัสไปจนถึงการติดตามดูแลสุขภาพในระยะยาวโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายไม่ว่าคนๆ นั้นจะใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผมตั้งคำถามกับ 2 เรื่องใหญ่ๆ ของการทำงานเอดส์บ้านเราคือระบบการให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดเอชไอวีในหน่วยบริการและการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่อง “เอดส์รักษาได้” ให้กับสังคม

เรื่องแรกคือระบบการให้คำปรึกษาที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะพัฒนาให้ “มี” ในทุกหน่วยบริการ และมีอย่าง “มีคุณภาพ” ด้วย แต่กลับพบว่าผู้รับบริการที่โทรมาปรึกษาสายด่วน 1663 และเฟซบุ๊คแฟนเพจ www.facecook.com/1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ หลังจากทราบผลเลือดแล้วเกิดอาการ “เคว้ง” ไม่รู้ว่าติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไรต่อ นั่นอาจจะหมายความว่ากระบวนการให้คำปรึกษาของบ้านเราไม่ได้ทำให้ผู้รับบริการที่อยู่ตรงหน้าได้ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเขา ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะการให้คำปรึกษาเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เราได้ให้ข้อมูล ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งถ้ากระบวนการให้คำปรึกษาทำอย่างเต็มกระบวนและมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษา ไม่ต้องเจ็บป่วย เสียชีวิตแล้ว ยังช่วยให้ผู้รับบริการป้องกันตัวเองไม่ส่งต่อเชื้อไปยังคู่ ถือว่ากระบวนการให้คำปรึกษาได้ทำหน้าที่ในงานป้องกันที่จะลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ของประเทศ

สำหรับเรื่องที่สองคือการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่อง “เอดส์รักษาได้” ให้กับสังคมนั้น ต้องบอกว่าระยะหลังมาการรณรงค์เรื่องเอดส์ในบ้านเรา “เสียงเบา” ลงมากทั้งงานป้องกัน งานรักษา และงานลดการรังเกียจตีตรา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยงบประมาณหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้งานรณรงค์เงียบเสียงลงแต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเราไปสำรวจความเห็นเรื่องเอดส์ของนักเรียนนักศึกษาในยุคนี้ก็จะพบว่า เด็กยุคนี้ก็ยังคิดว่าเอดส์เป็นแล้วตาย เป็นโรคที่น่ารังเกียจ น่าสงสาร ฯลฯ ซึ่งไม่ต่างจากยี่สิบปีที่แล้วที่เอดส์ระบาดในสังคมไทย (หลายฝ่ายคิดว่า ถ้าวัยรุ่นกลัวเอดส์ คิดว่าว่าเอดส์อันตราย เป็นแล้วตาย จะทำให้ไม่กล้าเสี่ยง...แต่ในความเป็นจริงก็คือแม้ว่าวัยรุ่นจะมีความรู้ ความเชื่อแบบที่ว่าแต่อัตราการติดเชื้อในหมู่วัยรุ่นยังสูงมากขึ้นเรื่อยๆๆๆๆ ที่น่าแปลกใจก็คือว่า แม้จะรู้ว่าวิธีขู่ให้กลัวไม่ได้ผลแต่หลายหน่วยงานก็ยังคงใช้วิธีนี้จัดกลุ่มเสี่ยง ใส่ข้อมูลให้กลัว จนถึงทุกวันนี้) ไม่แปลกหรอกครับเพราะการรณรงค์เรื่องเอดส์ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาได้ฝังอยู่ในความทรงจำของเด็กยุคนี้ไปแล้ว ดังนั้นถ้าเราไม่รณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่เรื่องเอดส์ ความคิด ความเชื่อ เหล่านี้ก็จะยังอยู่ต่อไป และหากวันหนึ่งพวกเขาเหล่านี้ติดเชื้อเอชไอวีและไม่ได้รับการปรึกษาที่มีประสิทธิภาพในหน่วยบริการ เขาก็คงจะเคว้งคว้าง เพราะสังคมก็ไม่ได้ให้ความรู้เรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้กับเขาเลย

ผมคิดว่า เรื่องนี้คนทำงานเอดส์ต้องช่วยกันครับ ถ้าเรากำลังจะเดินไปสู่เป้าหมาย “เอดส์เป็นศูนย์” คือการติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ การเสียชีวิตจากเอดส์เป็นศูนย์ และการรังเกียจตีตราผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์เป็นศูนย์ ด้วยกัน เราก็ต้องช่วยกัน กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพของประเทศก็ต้องผลักดันและพัฒนาให้ระบบการให้คำปรึกษาในหน่วยบริการมีคุณภาพและครอบคลุมในทุกหน่วยบริการไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชน โดยต้องเน้น และสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ให้เขามาร่วมให้บริการ ให้เหมือนกับในอดีตที่เคยร่วมมือกันอย่างอบอุ่นและจริงจัง ซึ่งผมคิดว่ากระบวนการทำงานร่วมกันสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ การประสานให้คนทำงานเอดส์ทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์เรื่องเอดส์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน กำหนดเป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศ ก็จะง่ายขึ้น เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำอย่าง จริงจัง และต่อเนื่องเท่านั้น ไม่ได้ทำเป็นวาระตามสถานการณ์ “ตัวเลข” ที่เก็บได้

ถ้าทำได้ เป้าหมาย “เอดส์เป็นศูนย์” ของพวกเราก็ไม่ไกลเกินฝันครับ
 

กำลังโหลดความคิดเห็น