xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! กินยานอนหลับมากเสี่ยงหัวใจวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยไต้หวันเตือนกินยานอนหลับมากเสี่ยงหัวใจวาย ระบุ อย.สหรัฐฯ แนะลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่ง ด้าน อย.ไทยเผยทำได้แค่เฝ้าระวัง บอกยังไม่ได้รับรายงานเรื่องอาการข้างเคียงจากการใช้ยา ระบุแต่เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรอยู่แล้ว แถมกำหนดให้ลดปริมาณยาครึ่งหนึ่งจริง กินไม่เกิน 1 สัปดาห์ ขณะที่ กพย.จี้ อย.ต้องรู้จักศึกษาต่อยอดบ้าง

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์มีการโพสต์เตือนยานอนหลับชื่อสามัญ โซลพิแดม (Zolpidem) โดยอ้างนักวิจัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไต้หวันที่ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์ ซึ่งพบหากใช้ปริมาณมากเกินไปจะส่งผลต่อเส้นเลือดใหญ่และนำไปสู่หัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และหากกินยาขนาด 10 มิลลิกรัมทุกสัปดาห์ก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจวายได้เท่าตัว ซึ่งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่งคือ 5 มิลลิกรัม แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยกลับไม่ตื่นตัว ว่า ยาโซลพิแดมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 คือ อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะคลินิกที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และโรงพยาบาลก็สามารถใช้ได้ ยกเว้นร้านขายยาทั่วไป หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท ส่วนผู้ซื้อหากนำไปใช้ในทางที่ผิดจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท

ภก.ประพนธ์กล่าวอีกว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการกินยาตัวนี้ ในไทยยังไม่พบ ส่วนใหญ่ยาดังกล่าวจะมีฤทธิ์นอนหลับ เพียงแต่ยาโซลพิแดม มีฤทธิ์เร็ว จึงต้องมีการควบคุมพิเศษ และสั่งจ่ายโดยเภสัชกรที่ได้รับอนุญาต กับสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ส่วนอาการที่มีผลต่อหัวใจยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งไม่ต้องกังวล เนื่องจาก อย.มีคณะอนุกรรมการในการติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และอันตรายจากการใช้ยา คอยติดตามอยู่เสมอ

ยาโซพิแดม องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทาง อย.ได้กำหนดไว้ว่า หากจะใช้ยาตัวนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาต ที่สำคัญให้ลดปริมาณของยาลง โดยในผู้หญิงและผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะต้องลดปริมาณลงจาก 10 มิลลิกรัมเหลือเพียง 5 มิลลิกรัม โดยให้ทานเฉพาะก่อนนอนเท่านั้น และไม่ควรทานเกิน 1 สัปดาห์” รองเลขาธิการ อย.กล่าว

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การทำงานของ อย.เน้นที่การมอนิเตอร์ หรือเฝ้าระวังในต่างประเทศว่า มียากลุ่มใดที่ถูกถอนการขึ้นทะเบียนบ้าง ขณะที่การทำการติดตามข่าวสารเรื่องผลการศึกษาเรื่องสารออกฤทธิ์ในยา ยังไม่ครอบคลุมคือ แม้มีการศึกษา แต่การจะลงมือทำการศึกษาต่อ หรือลงพื้นที่เพื่อตรวจหายากลุ่มเสี่ยงจากผลวิจัยต่างประเทศยังค่อนข้างมีอุปสรรค หากไม่เป็นกรณีวิกฤตจริงๆ ก็จะพบน้อยมาก  ดังนั้น อย.ต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้ เหมือนกรณียานอนหลับชนิดนี้ที่มีผลศึกษาเบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อหัวใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ควรมีการศึกษา และควรนำข้อมูลเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณา
 

กำลังโหลดความคิดเห็น