การไหลบ่าทางวัฒนธรรมต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากสังเกตให้ดีจะเห็นวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อีกสิ่งที่คนรุ่นเก่าวิตกกังวล เกรงว่าลืมรากเหง้า มรดกวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงหวังแค่ให้คนรุ่นปัจจุบันช่วยสืบทอด อนุรักษ์ไว้
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดสงขลา เปิดศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดย นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชฯแห่งนี้ ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครบวงจร ภายในจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการประวัติความเป็นมาของชุมชนเมืองคลองแห และวิถีชีวิตในอดีตจนถึงปัจจุบันของชาวภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้จัดนิทรรศการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่หายากให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาแบบครบทุกเรื่อง เช่น เรือนภูมิปัญญาคลองแห สาธิตการแสดงโนราห์ลอดหนาม โนราท่าครู โนราสุขภาพ หนังตะลุง สวนสมุนไพร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และอื่นๆ อีกมากมาย
ด้าน พระครูปลัดสมพร ฐานธมฺโม เจ้าอาวาสวัดคลองแห อธิบายเสริมว่า นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจของในหลวง ราชินี เป็นภาพประกอบการเล่าเรื่องให้คนรุ่นหลังรู้ว่า พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อปี 2502 มีชาวบ้านรอรับเสด็จอย่างใกล้ชิดจำนวนมาก อยากสื่อให้เห็นว่า พระองค์เดินทางมาพบลูกๆ ของท่านถึงบ้าน พระองค์ทรงห่วงใย สอบถามความเป็นอยู่ของประชาชน
สำหรับโนราห์ หนังตะลุง นั้น เราต้องการอนุรักษ์การแสดงท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ให้สูญหาย ทุกครั้งที่ทางวัดจัดงาน หรือจังหวัดสงขลามีเทศกาลสำคัญๆ เราจะส่งเสริมให้มีการแสดงท้องถิ่นเหล่านี้ไปสู่สายตาชาวไทย และชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน จะเชิญปราชญ์ ครูภูมิปัญญา ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน ตลอดจนผู้สนใจ เช่นสอนการร้อยลูกปัดมาตกแต่งเสื้อโนราห์ให้งดงาม วิธีการทำหนังตะลุง
“อย่างวันนี้ใครเข้ามาชมนิทรรศการแล้ว เดินมาบริเวณลานวัด เราได้เชิญครูภูมิปัญญาหลายท่านมาสาธิตการทำเครื่องแต่งกายโนราห์ หนังตะลุง แบบดั้งเดิม ขณะเดียวกัน เชิญกูรูมาเผาข้าวหลามให้เห็นกันจะจะว่า เผาสุขแล้วเวลาจะทานไม่ต้องมานั่งทุบกระบอกให้เมื่อยแขน แค่ค่อยๆ ดึงใบยี่เล็ดข้าวหลามก็ออกมาอย่างสวยงาม ส่วนรสชาติเหมือนกับทานข้าวหลามทั่วไปแต่จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของใบยี่เล็ด”
ส่วนของใช้ในชีวิตประจำวันที่นำมาจัดแสดง พระครูปลัดสมพร เล่าว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ ได้ศึกษาเรียนรู้ว่าในอดีตบรรพบุรุษเขาใช้ชีวิตอย่างไร สำหรับของที่นำมาจัดแสดงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นของที่ชาวบ้านนำมาบริจาค
จากนั้น พระครูปลัดสมพร ฉายบรรยากาศวิถีชีวิต 2 ศาสนาของชาวคลองแหให้ฟังว่า คนไทยในท้องถิ่นแถบนี้ มีทั้งชาวไทยนับถือศาสนาพุทธ กับชาวไทย นับถือศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าจะนับถือคนละศาสนาแต่ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างทางวัดขอความร่วมมือชาวบ้านทั้ง 2 ศาสนาก็จูงมือกันมากำจัดน้ำเสียในคลองซึ่งติดอยู่กับวัด โดยช่วยกันทำลูกบอลชีวภาพ โยนลงคลอง ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย คืนน้ำใสให้คลอง
“สมัยก่อนคลองแห่งนี้เคยใช้เป็นเส้นทางสัญจร เมื่อมีการตัดถนนขึ้น คนก็หันไปใช้ทางถนนแทน และคลองแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากหาดใหญ่ ส่งผลให้คลองสายนี้มีปัญหาน้ำเน่าเสีย จึงระดมสมองร่วมกันแก้ปัญหา พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในหาดใหญ่ อย่าทิ้งน้ำเสียลงคลอง”
พระครูปลัดสมพร เล่าว่า การให้ชาวไทยทั้ง 2 ศาสนา ทำกิจกรรมร่วมกันนั้นเห็นกุศโลบายหนึ่งให้สังคมอยู่ร่วมกัอย่างมีความสุข รวมทั้งให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของคลองสายน้ำ จึงริเริ่มทำเป็นตลาดน้ำ 2 วัฒนธรรมขึ้นเมื่อปี 2551 โดยให้ชาวบ้านนำสินค้าพื้นบ้านมาจำหน่ายในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ วันนี้ตลาดน้ำแห่งนี้คึกคักมีทัวร์จำนวนมากแวะมาซื้อสินค้า