มธ.กวาด 8 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2556 และรางวัลผลงานวิจัย ทั้งทางด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สภาวิจัยแห่งชาติได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่นักวิจัยของ มธ.ทั้งในด้านรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติและรางวัลผลงานวิจัย และขอขอบคุณนักวิจัยทุกท่านที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องและสร้างชื่อเสียงให้กับ มธ.ซึ่ง มธ.มุ่งเน้นในการสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสาธารณะ เชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสุนทรียภาพ หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดย มธ. มีจำนวนงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ และผลงานตีพิมพ์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตอกย้ำนโยบายที่มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในด้านการวิจัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้กับประเทศ
ทั้งนี้ สภาวิจัยแห่งชาติได้มอบรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2556 สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย” แก่ ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ศ.ดร.สมนึก มีผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาวงการก่อสร้างแบบยั่งยืนอย่างครบวงจร เช่น การพัฒนาวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ โดยการพัฒนาคอนกรีตและปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ที่ใช้เถ้าลอย วิธีการควบคุมคุณภาพเถ้าลอยเพื่อการจัดจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้า รวมถึงวางแผนปรับมาตรฐานเถ้าลอยสำหรับประเทศไทย และการผลักดันการใช้ผงหินปูนในอุตสาหกรรมคอนกรีตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเพิ่มคุณภาพของคอนกรีต นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บุกเบิกการทำงานวิจัยด้านความคงทนและอายุการใช้งานของโครงสร้างคอนกรีตอย่างครบวงจรในประเทศไทย ศ.ดร.สมนึก ได้บูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อการวางแผนการบำรุงรักษา การตั้งงบประมาณ การประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินการด้านบำรุงรักษา และการคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศไทย
ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล กล่าวว่า “รางวัลที่ได้รับเป็นผลจาการทำวิจัยเกี่ยวกับวงการก่อสร้างตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการศึกษาและออกแบบโครงสร้างเพื่อทำให้โครงสร้างมีอายุยืนยาว การปรับปรุงวัสดุก่อสร้างให้มีคุณภาพคงทนแข็งแรงขึ้นและลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง และการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเสริมกำลังโครงสร้างเก่าและแก้ไขความเสียหายเพื่อให้โครงสร้างเก่ามีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน ทำให้โครงการก่อสร้างมีความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตโดยคำนึงถึงความคงทนและอายุการใช้งาน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีพื้นฐานมาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบโครงสร้างจริง และการ Simulation เพื่อให้มั่นใจว่า โครงสร้างจะมีอายุยืนยาวจริง ผลงานวิจัยเหล่านี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างคอนกรีตได้ถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปีจากการใช้วัสดุที่มีคุณภาพและโครงสร้างมีอายุยืนยาวขึ้น”
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยต่างๆ ดังนี้
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และคณะ ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์” สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาพลาสมาและปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของพลาสมาชนิดประสิทธิภาพสูงที่มี ETBs และ ITBs ในเครื่องโทคาแมค”
ดร.วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ และนายบุญเสริม นาคสาร ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยระดับดี สาขานิติศาสตร์” สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อการแก้ปัญหาของกฎหมายประเทศ”
รศ.ดร.ศากุน บุญอิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะ ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยระดับดี สาขาเศรษฐศาสตร์” สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลกระทบเชิงสถานการณ์ของความไม่แน่นอนด้านภาวะแวดล้อมต่อความสัมพันธ์ของการบูรณาการซัพพลายเชนและสมรรถนะด้านการปฏิบัติการ”
รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล คณะแพทยศาสตร์ ได้รับรางวัล “สิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์” สำหรับผลงานประดิษฐ์เรื่อง “อุปกรณ์ช่วยพ่นยาที่สามารถประดิษฐ์ได้ด้วยตนเองสำหรับการรักษาโรคหืด”
ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ได้รับรางวัล “สิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดี สาขาปรัชญา” สำหรับผลงานประดิษฐ์เรื่อง “ได้ทุกที่ รีสอร์ท”
ผศ.ดร.วราฤทธิ์ พาณิชกิจโกศลกุล คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัล “วิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์” สำหรับวิทยานิพนธ์เรื่อง “การอนุมานเชิงพยากรณ์สำหรับกระบวนการอัตตสหสัมพันธ์”
อาจารย์ ดร.ภาณุมาศ ทองอยู่ คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัล “วิทยานิพนธ์ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช” สำหรับวิทยานิพนธ์เรื่อง “การสังเคราะห์และการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของอนุภาคโปรตีนขนาดเล็กในกลุ่ม Cysteine Knot Microprotein”