xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะเหล็กเกินในร่างกาย...รักษาอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เลือด” เปรียบประหนึ่งน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิต หากร่างกายขาดเลือดไม่ว่าจะด้วยเพราะอุบัติเหตุ หรือโรคอันใดต่างๆ ก็จะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการให้เลือดเป็นหนทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการช่วยชีวิตผู้ป่วย จนช่วยให้พ้นขีดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการให้เลือดเป็นระยะๆ จะมีความเสี่ยงอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ “ภาวะเหล็กเกิน” ในร่างกาย
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น ผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงต่อการเกิดภาวะเหล็กเกิน ก็คือ ผู้ป่วยโลหิตจาง มีภาวะซีดเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการรับเลือดบ่อยครั้ง ทั้งนี้ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่ได้รับเลือดผู้ป่วยจะได้รับเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดง เหล็กจะเริ่มสะสมภายในร่างกาย หลังจากได้รับการถ่ายเลือดประมาณ 10 ครั้ง เนื่องจากร่างกายไม่มีกลไกในการขับเหล็กออกได้ เหล็กที่รับเข้าไปเพิ่มจากการรับเลือดก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย จนเมื่อมีระดับที่สูงเกินไป ก็จะเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆได้ เพราะเหล็กจะเข้าไปสะสมอยู่ในอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ตับอ่อน เป็นต้น และอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพขึ้น แม้จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บป่วย แต่มีอันตรายต่อร่างกายเมื่อเวลาผ่านไป

ภาวะเช่นนี้เรียกว่า ภาวะเหล็กเกิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นอาการแทรกซ้อนจากการได้รับเลือดบ่อยครั้ง

การติดตามจำนวนถุงเลือดที่ได้รับการถ่ายเลือดทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเว้นช่วงระยะเวลาในการรับเลือดนานเพียงใด หรือนานนับปีก็ตาม เหล็กก็จะยังคงสะสมอยู่ภายในร่างกาย หากได้รับเลือดใกล้เคียงหรือมากกว่า 20 ถุง (ยูนิต) ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเกี่ยวกับภาวะเหล็กเกิน โดยแพทย์อาจให้ตรวจระดับหรือตรวจระดับเฟอร์ริทินในเลือด หากมีภาวะเหล็กเกินสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาขับเหล็ก

ยาขับเหล็ก (iron chelator) เป็นยาเพียงชนิดเดียวที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเหล็กส่วนเกินและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเหล็กเกินได้ โดยยานี้จะช่วยจับเหล็กภายในร่างกายและช่วยกำจัดออกโดยทางปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งเป้าหมายของการขับเหล็กคือ การกำจัดเหล็กเกินที่เกิดจากการถ่ายเลือด และหากจำเป็นต้องลดระดับเหล็กที่เกิดจากการสะสมจนเป็นภาระต่อร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับเลือดและให้ยาขับเหล็กไปตลอดชีวิต

ที่ผ่านมายามาตรฐานที่ใช้ขับเหล็กก็คือ ยาดีเฟอร์ร็อกซามีน (Deferoxamine) แต่จะต้องได้รับยาโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังโดยใช้เข็มและเครื่องปั๊มยานาน 8-12 ชั่วโมงต่อคืน เป็นเวลา 5-7 คืนต่อสัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการใช้ยานี้ แต่ปัจจุบันมียาแบบรับประทานชื่อ ดีเฟอร์ราซีร็อกซ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ให้ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินในร่างกายผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปได้

โดยการกินยาดีเฟอร์ราซีร็อกซ์ ให้กินวันละ 1 ครั้ง ขณะท้องว่าง มี 3 ขั้นตอนดังนี้

1.ละลายเม็ดยาโดยใส่ลงในน้ำส้มหรือน้ำเปล่า 1 แก้ว โดยเติมน้ำ 100-200 มิลลิลิตร ห้ามเคี้ยวหรือกลืนเม็ดยา

2.คนจนกระทั่งเม็ดยาละลาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 นาที ยาดีเฟอร์ราซีร็อกซ์ อาจมีลักษณะข้นเป็นเนื้อเดียวกัน โดยปกติสารละลายจะไม่มีรสและกลิ่น

3.ดื่มยาแล้วเติมน้ำส้มหรือน้ำเปล่าลงในแก้วหรือที่คนสารละลายซึ่งยังมียาหลงเหลือ แล้วดื่ม

อย่างไรก็ตาม จะต้องรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และผู้ที่แพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาดังกล่าวไม่ควรใช้ยานี้ นอกจากนี้ ก่อนใช้ยาจะต้องตรวจเลือดทุกเดือน เพื่อตรวจสอบการทำงานของตับและไต ระดับเฟอร์ริทินในเลือด การได้ยินหรือการมองเห็นด้วย เพราะยามีผลต่อตับหรือไต โดยขนาดของยาจะปรับเปลี่ยนหากตำเป็น ทั้งนี้ หากมีผื่นคันรุนแรงหรือความปิดปกติการได้ยิน หรือมองเห็น ต้องติดต่อแพทย์ที่รักษาทันที สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบ่งบอกว่าการทำงานของไตมีค่าเพิ่มขึ้นและผื่นคัน

ทั้งนี้ การดูแลตนเองจะต้องออกกำลังกายเท่าที่จะทำได้ ไม่เหนื่อยเกินไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ผาดโผน งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีภาวะซีดอยู่แล้วและยังมีผลต่อการทำงานของปอด ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนมากขึ้น และไม่ควรดื่มเหล้า เนื่องจากมีผลเสียต่อตับ ซึ่งมีธาตุเหล็กไปสะสมเป็นปัญหาอยู่แล้ว

ส่วนการกินอาหารควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม และอาหารที่มีวิตามินที่เรียกว่าโฟเลทอยู่มาก ได้แก่ ผักสดต่างๆ สารอาหารเหล่านี้ จะถูกนำไปสร้างเป็นเม็ดเลือดแดงได้

2.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กสูง เช่น ตับสัตว์ เลือด เครื่องใน เป็นต้น

3.ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดกินเอง เพราะอาจเป็นยาที่มีธาตุเหล็ก ซึ่งใช้สำหรับรักษาคนที่ขาดธาตุเหล็ก ไม่ใช่สำหรับคนที่มีภาวะเหล็กเกิน

และ 4.การกินอาหารบางอย่างอาจช่วยลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น น้ำชา นมถั่วเหลือง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น