xs
xsm
sm
md
lg

ศึกลิขสิทธิ์! “สตาร์บัคส์ VS สตาร์บัง” ชัยชนะของกาแฟรถเข็น?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากกรณีพิพาทระหว่าง “สตาร์บัคส์” กาแฟยี่ห้อดังระดับโลก กับ “สตาร์บัง” กาแฟรถเข็นริมถนนพระอาทิตย์ กลายเป็นกระแสวิพากษ์ไปในหลายทิศทาง

ฝ่ายหนึ่งก็มองว่า เป็นเรื่องของทุนใหญ่บดบี้บรายเล็ก! แต่อีกฝ่ายที่มองในมุมลิขสิทธิ์ก็เห็นแย้งว่า ควรถูกฟ้องให้เป็นเยี่ยงอย่าง! ฝ่ายเห็นแย้งถึงขั้นมองว่า “ความจนไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำผิด!”

กับปรากฏการณ์ปกป้องสตาร์บัคส์น่ายินดีที่จิตสำนึกด้านลิขสิทธิ์เริ่มเบิกบานขึ้นในสังคมไทย หากแต่ในรายละเอียดของคำว่าลิขสิทธิ์ก็ยังคงมีอีกด้านที่สร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ขณะที่ประเด็นลิขสิทธิ์ยังคงเป็นที่ถกเถียงในระดับนานาชาติ สิ่งที่สตาร์บังกระทำนั้นถือเป็นความผิดหรือไม่ ความยากจนในสังคมไทยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนการเข้าไม่ถึงความยุติธรรมด้วยหรือไม่?

เจตจำนงของลิขสิทธิ์

หลังจากโลกเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ การจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบของผลประโยชน์ หรือเงินได้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ เมื่อทรัพย์สินทางปัญหาอันได้แก่สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาจากภูมิปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนา ลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์โดยยืนอยู่ความเชื่อในระบบทุนว่า การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของไอเดีย หรือเจ้าลิขสิทธิ์จะทำให้เกิดกำลังใจในการคิดค้น และพัฒนานวัฒกรรมต่อไป

ดังนั้น หากอ้างอิงจาก “คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม” ของกรมทรัยพ์สินทางปัญญา มีการระบุไว้ว่า “พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้ให้ความคุ้มครองแก่งานลิขสิทธิ์โดยกำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ทางสติปัญญาของคน เพื่อเป็นการตอบแทนความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ต่อไป ขณะเดียวกัน กฎหมายก็ต้องการให้สังคมได้ใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นๆ ด้วย”

ลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นเพื่อเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้คิดค้นสิ่งนั้น แต่ในอีกมุมการบังคับใช้ก็ควรเป็นไปในลักษณะที่สังคมยังคงได้ใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์นั้นด้วย บอกได้ว่า ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่เพื่อการครอบครอง และจำกัดสิทธิผู้อื่น

ทั้งนี้ ในส่วนการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์นั้น ดร.เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ในประเทศพัฒนาแล้วจะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านลิขสิทธิ์ที่เข้มข้น ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนามีเงื่อนไขที่แตกต่างจึงควรมีการบังคับใช้กฎหมายที่เปิดกว้างมากกว่า

“ในมุมมองของประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการแข่งขันอย่างเต็มที่ เป็นการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีระดับสูง แม้กระทั่งสินค้าแบรนด์เนมที่ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ฉะนั้น เขาอยู่ได้ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบนี้ การคุ้มครองจึงต้องเข้มข้น

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาการแข่งขันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นคำตอบสุดท้าย ดังนั้น หากถามว่าการควบคุมควรจะเข้มข้นมั้ย? คำตอบคือ ไม่ มันควรที่จะเปิดกว้างหน่อยเป็นลักษณะของการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเช่น หนังสือตำราเรียนต่างประเทศที่ราคาแพงเมื่อเข้ามาในบ้านเราก็มีการซีร็อกซ์ทั้งเล่ม ตรงนี้แนวคำพิพากษาบ้านเรายังคงเป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา เป็นเรื่องของการตีความกฎหมายในลักษณะเปิดกว้าง”

เมื่อมาถึงกรณีของสตาร์บังที่ทำเพื่อการพาณิชย์ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าไว้ดังนี้ “บทลงโทษในการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

เมื่อตีความในทางกฎหมาย ศรีสุวรรณ์ จรรยา นักกฎหมายที่ทำงานด้านความเป็นธรรมแก่ภาคประชาชนมองว่า การกระทำของสตาร์บังไม่ได้ผิดกฎหมายดังกล่างแต่อย่างใด

“กฎหมายลิขสิทธิ์กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือให้แก่ทุนนิยมโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจเงินสูงกว่า ใช้เป็นเครื่องมือในการรังแกผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรังแกผู้ประกอบการรายเล็ก หรือแม้แต่อาชีพของคนยากคนจนคนด้อยโอกาสเพราะการกำหนดโทษ และกระบวนการในทางคดีค่อนข้างจะทำให้ภาคประชาชนเสียเปรียบ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้มีขึ้นบ่อยครั้ง และเกิดขึ้นทั่วโลก”

ค่าใช้จ่ายของความยุติธรรม

ในมุมของสตาร์บัคส์การดำเนินการด้านโลโก้สินค้าเป็นมาตรฐานที่ดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งที่ชนะ และแพ้คดีแตกต่างกันไป โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จในปี 2006 สตาร์บัคส์ชนะคดี Xingbake ซึ่งเป็นร้านกาแฟขนาดใหญ่ในประเทศจีน ขณะที่ในปี 2005 สตาร์บัคส์แพ้คดีให้แก่ Starpreya ซึ่งเป็นเพียงร้านกาแฟขนาดเล็กในประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ แบรนด์ระดับโลกอื่นอย่าง McDonald ก็มีการฟ้องและแพ้คดีให้แก่ McCurry ในมาเลเซีย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หากเป็นกรณีที่บริษัทใหญ่ฟ้องร้องเอาเงินจากผู้ประกอบขนาดเล็กก็มักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมนัก โดยประเด็นการล้อเลียน หรือที่เรียกกันว่า parody logo ของสตาร์บัคส์นั้นมีเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมซึ่งสตาร์บัคส์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเอาความ และสตาร์บังก็มีสิทธิที่จะยืนยันสู้คดี...แล้วความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นที่ไหนล่ะ?

ศรีสุวรรณ์ อธิบายถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ฟ้องร้องผู้ประกอบการรายเล็กว่า เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ค่าใช้จ่ายที่สูงในกระบวนการยุติธรรม 2.การนำพยานหรือข้อเท็จจริงขึ้นสู่ศาล

“แน่นอน ค่าใช้จ่ายเหมือนมดไปสู้กับช้างการจะว่าจ้างทีมทนายที่มีความเชี่ยวชาญในการสู้คดีเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีศักยภาพเพียงพอจะทำแบบนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เขามีทุนมากมายที่จะว่าจ้างทนาย หรือแม้แต่ล็อบบี้หน่วยงานรัฐให้มาเป็นพยานในชั้นศาล มันเสียเปรียบหมด”

ดังนั้น ประเด็นที่มีการพูดกันมากว่า ความจนเป็นข้ออ้างในการทำผิดได้หรือไม่นั้น เขาเผยว่า คนจนหรือผู้ประกอบรายเล็กรายน้อยถือเป็นผู้ด้อยโอกาสซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งในการพิจารณา หากแต่ประเด็นหลักเขามองว่าคือ การที่รัฐธรรมนูญรองรับให้คนไทยมีสิทธิ์ที่จะประกอบอาชีพได้ตามเสรีภาพที่ตนเองมี

“สินค้าที่เป็นกรณีพิพาทผมคิดว่าไม่ถึงขั้นก๊อบปี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่อาจจะมีลักษณะที่คล้ายกัน มิได้หมายถึงจะเหมือนกันครบ 100 เปอร์เซ็นต์ โอกาสในการต่อสู้คดีเป็นเรื่องของเจตนามากกว่าที่จะแพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด”

โดยเขากล่าวเพิ่มเติ่มว่า หากมองในมุมกฎหมาย สตาร์บังไม่น่าจะผิด เพราะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องสูญเสียลูกค้า หรือภาพลักษณ์ เพราะกิจการของสตาร์บังเป็นการบริการเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชั้นล่างสุด ขณะที่คู่กรณีเป็นแบรนด์สินค้าติดตลาดทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก มีกลุ่มลูกค้าชั้นสูง ฉะนั้นโอกาสที่สตาร์บังจะเบียดบัง หรือทำให้ภาพลักษณ์ของสตาร์บัคส์เสียจึงเป็นไปไม่ได้

“ถ้าดูโดยหลักโครงสร้างของกรณีพิพาทนี้แล้ว ผมคิดว่า หลักกฎหมายมันขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นหลัก ดูจากภายนอกเขาไม่มีวัตถุประสงค์ทำให้สตาร์บัคส์เสียหาย ไม่เสียหายทั้งในชื่อเสียงของแบรนด์ และไม่เสียหายทั้งในเรื่องของกลุ่มผู้บริโภค จึงเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะก้าวล่วงมาถึงขั้นเป็นความผิด หรือถึงขั้นมีบทกำหนดโทษอย่างรุนแรงตามที่ผู้ประกอบการยื่นฟ้องร้องในคดีนี้ครับ”

ท้ายที่สุด ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่รังแกรายเล็กนั้น เขามองว่า กฎหมายรวมไปถึงมาตฐานยังคงมีจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ประกอบรายเล็กเสียเปรียบ ยิ่งเมื่อประเทศกำลังจะเปิดเสรีการค้าทั้งในระดับอาเซียน และเปิดเสรีกับกลุ่มประเทศอื่นๆ กลุ่มทุนที่มีอำนาจเงินก็จะสามารถเข้ามาใช้กฎหมายไทย และกระบวนการยุติธรรมไทยเหล่านี้ในรังแกภาคประชาชนอื่นๆ ได้

“ถึงสุดท้ายแล้ว คดีประเภทนี้ส่วนใหญ่เมื่อถึงศาลยุติธรรมก็จะยกฟ้องเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กระบวนการเหล่านี้ผมคิดว่า ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่น หรือความอุ่นใจให้แก่ประชาชนรายเล็กรายน้อยที่มีอยู่มากมายว่า เขาจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการ หรือทุนขนาดใหญ่”

รู้หรือไม่กับ “สตาร์บัง”

-ที่มาของชื่อ “สตาร์บัง” มาจากที่บังเริ่มขายกาแฟอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งตั้งชื่อ และเรียกบังว่า สตาร์บัง จนกลายเป็นชื่อที่ติดตัว และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
-ที่มาของโลโก้สตาร์บัง หลังจากที่บังย้ายมาขายย่านถนนพระอาทิตย์ ก็มีผู้หวังดีทำงานด้านออกแบบได้ลงมือออกแบบโลโก้ให้
-โลโก้สตาร์บัง เริ่มใช้เมื่อ 10 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันเกิดของบัง
สตาร์บัง ถูกยื่นโนติสจากสตาร์บัคส์ ให้เปลี่ยนโลโก้ในวันที่ 18 กันยายนปี 2555 บังก็ได้ทำการเปลี่ยนให้เส้นรอบโลโก้เป็นสีน้ำเงิน และเพิ่มเดือนเข้าไปในสัญลักษณ์ดาว แต่ก็ถูกยื่นโนติสอีกครั้ง จนท้ายที่สุดก็มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
-เมนูที่ขายดีที่สุดของร้านคือ กาแฟ ซึ่งใช้กาแฟจากจังหวัดกระบี่

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่สังคมมอง 2 มุมทั้งในด้านของลิขสิทธิ์ที่ควรปกป้อง และความเห็นใจต่อผู้ประกอบการรายเล็กก็ถือเป็นสิ่งดีที่ควรหาตรงกลางเพื่อให้เกิดความเคารพต่อเจ้าของไอเดีย และความยุติธรรมต่อผู้ประกอบการรายเล็ก

ถึงตอนนี้สังคมไทยมีความรู้ด้านลิขสิทธิ์มากน้อยเพียงใด...รู้เพียงว่า ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิในการเรียกร้องอย่างหนึ่งเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ หรือเข้าใจไปถึงเจตจำนงเดิมอัมมีคุณค่าที่เชื่อว่าผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์เหล่านั้นเป็นไปเพื่อการพัฒนา การต่อยอด และนวัตกรรม กระทั่งรู้ทันถึงด้านเลวร้ายของลิขสิทธิ์ที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมในด้านที่กลับกันด้วย

ความยุติธรรมหาได้วางตัวเองอยู่ในข้อกฎหมาย หากแต่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพความเป็นในบริบทของสังคมนั้นๆ ด้วย

เรื่องโดย ASTVผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น