xs
xsm
sm
md
lg

4 ขั้นตอนดูแล “น้องหมา” หลังฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้คนไทยจะหันมาเลี้ยงสัตว์แปลกๆ มากขึ้น แต่สุนัขและแมวก็ยังคงเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บางคนเลี้ยงเพราะรัก บ้างเลี้ยงเพื่อแก้เหงา เพราะฉะนั้น ความเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงจึงมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ซึ่งข้อปฏิบัติสำหรับผู้ดลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว จะต้องระลึกไว้เสมอคือหลัก “7 ต้อง 2 ห้าม 3 เคร่งครัด”
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
7 ต้อง ประกอบด้วย

1.ต้องควบคุมสุนัขและแมวไม่ให้ออกนอกสถานที่โดยปราศจากการควบคุม

2.ต้องจัดให้สุนัขและแมวใส่อุปกรณ์ครอบปาก

3.ต้องผูกสายลากจูงที่แข็งแรง

4.ต้องรักษาความสะอาดสถานที่เลี้ยงสุนัขและแมว ให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลเป็นประจำ

5.ต้องเลี้ยงดูให้อาหาร น้ำเพื่อดำรงชีวิตปกติสุข จัดให้มีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสุนัขหรือแมวมาสู่คน

6.ต้องพก PASSPORT ตลอดเวลาและต้องแสดงเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกตรวจให้บริการ

7.ต้องหาผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมวแทน กรณีที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงอีกต่อไป อย่าทอดทิ้งไม่เหลือใครดูแล

2 ห้าม ประกอบด้วย

1.ห้ามปล่อยสุนัขหรือแมว อยู่ตามลำพังโดยไม่มีใครควบคุมดูแล

2.ห้ามไม่ให้สุนัขหรือแมวส่งเสียงรบกวนผู้อื่น

และ 3 เคร่งครัด ประกอบด้วย

1.จดทะเบียนเมื่อมีอายุครบ 2 เดือนทันทีเพื่อควบคุมดูแลสัตว์ตามระเบียบที่กำหนด

2.ฉีดวัคซีนตามกำหนด

3.ทำลายซากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

เห็นได้ชัดว่า เรื่องการป้องกันโรคให้สัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคติดต่อสำคัญ ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสและเป็นโรคสัตว์ติดคน (Zoonosis) เป็นอันตรายถึงชีวิตมักมีการระบาดในช่วงฤดูร้อน เชื้อไวรัสจะอยู่ที่น้ำลายของสุนัขและเข้าสู่ทางบาดแผลที่ถูกกัด รอยขีดข่วน รอยถลอก หรือแม้แต่การถูกเลีย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่พบในสุนัขมากที่สุดและจะทรมานจนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุดด้วย

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้น ป้องกันได้ โดยการทำวัคซีน เมื่อสัตว์อายุ 2-4 เดือน เป็นต้นไป และต้องฉีดซ้ำประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว กลุ่มงานสัตวแพทย์กองการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่สาย ยังให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง ดังนี้

โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัสพาร์โว (Canine parvovirus) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้บ่อยในสุนัข อาการที่พบ คือ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสทำให้หัวใจเกิดความเสียหาย สุนัขอาจตายได้ภายใน 24 ชั่วโมง การป้องกันโรคนี้มีทางเดียว คือ การทำวัคซีนป้องกันเท่านั้น

โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา (Canine coronavirus) พบได้บ่อยในลูกสุนัขที่อายุ 2-4 เดือน และอาการจะรุนแรงมากขึ้น หากติดเชื้อร่วมกัน parvovirus โดยสุนัขจะแสดงอาการซึม อาเจียน มีไข้ และท้องร่วมอย่างรุนแรง กลิ่นของอุจจาระเหม็นคาวมาก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ เนื่องจากไวรัสเข้าไปทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ ทำให้สัตว์ขาดสารอาหาร และขาดน้ำอย่างรวดเร็ว

โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและหลายครั้งพบว่าทำให้สุนัขเสียนชีวิต กรณีที่สุนัขรอดชีวิตพบได้บ่อยว่าทำให้เกิดความพิการอย่างถาวร เช่น กล้ามเนื้อขากระตุก เดินวน เดินเอง สูญเสียการมองเห็น เนื่องจากประสาทตาถูกทำลาย การรักษามักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ การทำวัคซีนหลังจากที่สัตว์เป็นโรคแล้วอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตับได้ โดยเฉพาะกรณีที่ป่วยขั้นรุนแรงสุนัขอาจเสียชีวิตได้ ภายใน 24-36 ชั่วโมง หลังหายจากโรคสัตว์จะกลายเป็นพาหะของโรคนี้และสามารถที่จะแพร่เชื้อไวรัสไปติดสุนัขอื่นได้

โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นโรค สำหรับสุนัขจะมีอาการโรค 2 แบบ คือ แบบแรก จะเกิดไข้ฉับพลันและมีอาการ ดีซ่าน ซึ่งมักพบได้บ่อยว่าเกิดการติดเชื้อจากหนู ไม่จะเกิดจากการถูกหนูกัด หรือไม่สัมผัสกับปัสสาวะของหนูที่ติดเชื้อนี้ ส่วนแบบที่สอง อาจพบอาการแบบเฉียบพลันได้แต่มักจะพบในแบบอาการเรื้อรังมากกว่า ซึ่งหลายปีหลังจากได้รับเชื้อจะพบว่าไตของสุนัขจะถูกทำลายลงช้าและเกิดอาการไตวายได้

โรค Canine Parainfluenza หรือ ที่รู้จักในชื่อ Kennel ccouth พบว่า เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว สาเหตุหลักอีกอย่างหนึ่งคือเชื้อแบคทีเรีย Bordetella bronchiseptica สุนัขที่ป่วยจะทรมานจากการไออย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และนำไปสู่อาการปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม ซึ่งจะก่อให้เกิดความเครียดทั้งต่อตัวสุนัขและเจ้าของ

โรคไข้หัดแมว (Felin Distemper) หรือเรียกว่าโรคลำไส้อักเสบติดเชื้อไวรัสในแมว จะเกิดขึ้นได้ในแมวทุกอายุ สาเหตุของโรคคือ parvovirus ที่ติดตาอจากการสัมผัสโดยตรง โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรง หรือที่ขับถ่าย แมวทุกตัวควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ อาการที่พบเมื่อป่วย คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน เม็ดเลือดขาวต่ำมาก เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย มีอาการขาดน้ำ อ่อนเพลีย ตัวสั่น และเดินไม่ตรง ซึ่งแมวที่ไม่รับวัคซีนป้องกันและเกิดป่วยโรคดังกล่าวมีโอกาสรอดชีวิตต่ำมากและอาจเสียชีวิตใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ควรฉีดครั้งแรกเมื่อลูกแมว อายุ 6-12 สัปดาห์และฉีดกระตุ้นซ้ำ 2-3 ครั้งโดยห่างจากเข็มแรก 2-4 สัปดาห์ และจากนั้นควรฉีดกระตุ้นซ้ำประจำทุกปี

โรคหวัดติดต่อในแมว (Feline Herpes Virus) เชื้อนี้จะทำให้เกิดโรครุนแรงกว่าเชื้อ Calicvirus โดยเฉพาะในลูกแมวเชื้อโรคจะมีระยะฟักตัว 2-6 วัน ต่อมาแมวจะซึมไม่กินอาหาร มีไข้ จามมาก ตาแดง น้ำมูก น้ำตา น้ำลายไหล จากนั้นจะเปลี่ยนจากใสเป็นเขียวข้น หรือเหลือข้น ติดเกรอะกรัง ทำให้แมวหายใจลำบาก อาการรุนแรงถึงขั้นปอดบวมและตายได้ ในรายที่ท้องอาจแท้งได้ หรือหากแมวเล็กๆ ที่มีไข้สูงอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต

โรคหวัด-โรคหลอดลมอักเสบ (Feline Calicvirus) เป็นเชื้อที่ก่อโรคในแมวมาก อาการ คือ มีน้ำมูก น้ำตาไหล เป็นแผลที่ช่องปากและลิ้น ซึมและเบื่ออาหาร มีไข้เวลาต่อมา แมวส่วนใหญ่จะเจ็บลิ้นทำให้เบื่ออาหารจนนำไปสู่อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นลูกแมวอาจทำให้ปอดอักเสบ หรือหากป่วยโรคภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ปกติ เช่น ป่วยโรคเอดส์แมว ก็จะป่วยเรื้อรัง ร่วมด้วยอาการช่องปากอักเสบ เหงือกอักเสบ และทอนซิลอักเสบ

หนึ่งในหนทางการป้องกันให้แก่สุนัขและแมวได้นั้น ก็คือการฉีดวัคซีน เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขส่วนหนึ่งมาจากนมน้ำเหลืองที่ได้จากแม่ในช่วงแรกคลอดใหม่ๆ ซึ่งจะอยู่ได้นานไม่เกิน 3 เดือนจึงเป็นเหตุผลที่ตารางฉีดวัคซีนควรเริ่มเมื่อลูกสุนัขอายุประมาณ 2 เดือนและเมื่อครบ 3 เดือน เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันจากแม่จะลดลงไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อให้ลูกได้ ขณะเดียวกันจะต้องฉีดวัคซีนซ้ำเพื่อกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะพบว่าหากไม่ฉีดกระตุ้นซ้ำสัตว์จะเสียชีวิตจากโรคติดต่อดังกล่าวอยู่บ่อย

ดังนั้น จากโรคติดต่อสำคัญข้างต้น โรคที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันมากที่สุด คือ โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัสพาร์โว (Canine parvovirus) โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) โรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรน่า (Canine coronavirus) โรค Canine Parainfluenza และ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ซึ่งหากผู้เลี้ยงละเลยไม่ฉีดวัคซีนเมื่อสุนัขป่วยก็ยากที่จะรักษาและเป็นอันตรายถึงชีวิต

สำหรับการทำวัคซีน สุนัขที่จะไปทำวัคซีนควรมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่ป่วยเป็นโรคใด ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ และสัตว์ที่มีความเสี่ยงในการติดโรคควรได้รับวัคซีนทุกตัว เช่น ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่อ่อนแอ ไม่ได้รับนมน้ำเหลืองทันทีหลังคลอด สัตว์ที่เลี้ยงอยู่หนาแน่นและในบริเวณที่เกิดการระบาดของโรค

อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงที่เกิดที่เกิดขึ้นได้จากการทำวัคซีนสุนัขและแมวก็มีไม่น้อย คือ มีอาการบวม แดง ผื่นแพ้ บริเวณที่ฉีดวัคซีน (ภายใน 24 ชั่วโมง) มีอาการซึม อ่อนเพลีย หรืออาจมีไข้ (ภายใน 24-72 ชั่วโมง) สุนัขพันธุ์ที่แพ้วัคซีนได้ง่าย คือ พุดเดิ้ล, ดัชชุนพันธุ์ขนยาว, สก็อตติช เทอร์เรีย, โอลด์อิงลิช ชีพด็อก, เชดแลนด์ ชีพด็อก, ซิห์-สุ, ไวน์มาราเนอร์, อเมริกัน ค็อกเกอร์ สแปเนียล รวมไปถึงอาการอื่นๆ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง หรือตาอักเสบ

การดูแลสุนัขหลังได้รับวัคซีน สามารถทำได้โดย

1.หลังฉีดวัคซีน ควรพักดูอการที่คลินิก หรือ โรงพยาบาลสัตว์อย่างน้อย 30 นาที-1 ชั่วโมง ให้แน่ว่าอาการปกติจึงกลับบ้านได้

2.งดอาบน้ำสัตว์หลังทำวัคซีนเป็นเวลา 7 วัน

3.สุนัขแต่ละตัวจะตอบสนองต่อวัคซีนโดยการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสุขภาพ ดังนั้น บางตัวอาจอ่อนเพลียมีไข้ต่ำๆ หรือเบื่ออาหาร ซึ่งหากหลังจาก 48 ชั่วโมงอาการดังกล่าวยังอยู่ควรรีบปรึกษาแพทย์

และ 4.ภายหลังการทำวัคซีนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วัน ร่างกายจึงเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันโรคและต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1-2 ครั้งจึงมีระดับภูมิคุ้มกันโรคที่เพียงพอหากมีการติดเชื้อ หากจะให้มีระดับป้องกันที่สูงเพียงพอป้องกันการติดโรค ต้องดูแลไม่ให้สุนัขและแมวมีโอกาสสัมผัสโรค หรืออยู่ในพื้นที่ระบาดของโรค คลุกคลีกับสัตว์ป่วย และได้รับสารอาหารเพียงพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น