xs
xsm
sm
md
lg

สารพัน "โรคน้องเหมียว" ที่คนรักแมวควรอ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"แมว" เป็นเพื่อนสี่ขาแสนรักของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร โดยธรรมชาติของแมว เป็นสัตว์ที่เป็นนักล่าที่มีความรักสันโดษ มีความเป็นส่วนตัวสูงแต่รักอิสระ การที่มีนิสัยรักอิสระ ชอบท่องเที่ยวสู่โลกภายนอกก็เป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญในการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ทั้งกับแมวด้วยกันเอง หรือแม้แต่กับตัวเจ้าของซึ่งอาจทำให้ติดโรคจากสัตว์เลี้ยงแสนรักของตัวเองมาโดยไม่รู้ตัว

วันนี้ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับโรคน้องเหมียวจากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขารามอินทรา กม.8 มาฝากกัน

สัตวแพทย์หญิงปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ ให้ข้อมูลว่า วิถีชีวิตของแมวมีผลโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไป แมวที่ใช้ชีวิตกลางแจ้งได้อย่างอิสระจะมีชีวิตที่เป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บและเสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่ายตามไปด้วย บางโรคอาจร้ายแรงจนทำให้แมวถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่

1. โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจของแมว หรือที่เรียกว่า โรคหวัดแมว (cat flu) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจของแมว พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นไวรัสจำเพาะในแมว ได้แก่ Feline Viral Rhinotracheitis Virus (FVRC) หรือ Feline Herpevirus (FHV) และ Feline Calici Virus (FCV) ซึ่งสามารถพบการติดเชื้อร่วมกันได้ นอกจากนี้อาจมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น Bordetella หรือ Chlamydia สำหรับเชื้อ Chlamydia ที่ติดร่วมนั้นจะทำให้แมวมีอาการตาอักเสบ เยื่อบุตาบวมอักเสบ มีขี้ตาเขียว เป็นต้น

การติดเชื้อไวรัส Feline Herpevirus (FHV) จะพบได้บ่อยในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการทำวัคซีน อัตราการเกิดโรคอาจสูงถึง100 % แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอัตราการตายจะไม่สูงมาก แต่ว่ามีโอกาสที่จะสูงถึง 30 % ได้ในลูกแมวและแมวที่มีอาการเครียดหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน อาการที่พบหลังจากที่แมวได้รับเชื้อ FHV คือเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 10 วัน โดยจะทำให้แมวมีอาการอักเสบที่ตา จมูก หลอดลมซึ่งทำให้อาการตาอักเสบ มีน้ำมูกและเสมหะ นอกจากนี้ยังทำให้แมวมีอาการซึม หายใจลำบาก เป็นไข้ ไอ จามและเบื่ออาหาร

ในกรณีที่มีเชื้อแบคทีเรีย ร่วมด้วยนั้น จะทำให้น้ำมูกข้นเหนียวจนเป็นหนอง อาจพบแผลหลุมเป็นวงๆ บนลิ้น ทำให้แมวเจ็บมากจนไม่อยากกินอาหาร อาการอาจรุนแรงมากถึงขั้นเกิดปอดติดเชื้อและเยื่อหุ้มปอดอักเสบซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนการติดเชื้อ Feline Calici Virus (FCV) ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม แต่อาจแสดงอาการรุนแรงมากกว่านั้นได้ สำหรับอาการที่เด่นชัดที่สุดคือ แผลหลุมบนลิ้น ช่องปากอักเสบ แผลในช่องปากจะทำให้แมวกินอาหารลำบาก ความอยากอาหารลดลง ทำให้อาการทรุดลงเร็ว การติดต่อของโรค เกิดจากแมวได้รับเชื้อไวรัสที่มีการแพร่กระจายในอากาศจากแมวที่ป่วยผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ หรือมีการสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อโดยตรง พบได้บ่อยในบริเวณที่มีแมวอยู่รวมกันอย่างแออัดหรือกลุ่มแมวจร

ส่วนในกรณีที่แมวป่วยและหายจากโรคแล้วนั้นยังสามารถเป็นพาหะนำโรคต่อไปได้ การรักษานั้นจะรักษาแบบตามอาการและพยุงอาการ ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย รวมทั้งยาลดเสมหะ ลดน้ำมูก ยาเสริมภูมิคุ้มกัน ในแมวบางตัวอาจจำเป็นต้องได้รับสารน้ำ วิตามินต่างๆ เพื่อบำรุงตามความเหมาะสม การเสริมอาหารอย่างเพียงพอ อาจจำเป็นต้องมีการป้อนอาหารและยาให้ นอกจากนี้ยังต้องดูแลเรื่องความสะอาดด้วย และควรให้ความอบอุ่นต่อร่างกาย สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง คือ การนำแมวที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไปปะปนกับแมวภายนอก และควรป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี

2. โรคไข้หัดแมว (Feline panleukopenia,Feline parvovirus) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัสในแมว (Feline parvovirus) หรือ Feline distemper มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว พบรายงานการพบโรคนี้มานานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูล ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทำให้แมวมีอาการอาเจียนและท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการหวัดแทรกซ้อน จึงมีคนเรียกชื่อต่างๆ มากมาย เช่น “โรคไข้หัดแมว” (Cat distemper) และ “โรคลำไส้อักเสบในแมว” (Feline Parvovirus Enteritis) เป็นต้น

โรคไข้หัดแมวมักพบในแมวอายุน้อยและก่อให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก ส่วนแมวโตนั้นก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยอาการที่พบคือ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ร่างกายขาดน้ำ บางครั้งอาจมีอาการเกร็ง ปวดช่องท้อง และพบลักษณะลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว อาจมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมวและทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ในแมวที่หายจากโรคนี้ในระยะแรกยังสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวที่ตั้งท้องอาจทำให้เกิดการแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้ การติดต่อโรคนี้สามารถติดได้จากการสัมผัสแมวป่วย หรือสัมผัสกับอุจจาระ สิ่งคัดหลั่งต่างๆ หรือภาชนะเครื่องใช้ของแมวป่วย หรือติดผ่านจากมนุษย์เป็นพาหะนำโรคผ่านเสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆที่สัมผัสกับแมวป่วย โรคไข้หัดแมวจะมีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยมักตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดมักจะพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า "Feline Panleukopenia"

สำหรับการรักษาควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหาร มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนแรง ขาดน้ำ เสียสมดุลย์ของอิเล็คโตรไลท์ในร่างกาย สัตว์อาจอยู่ในสภาวะช็อกได้ แนวทางการรักษาโรค คือ การรักษาตามอาการและพยุงอาการเพื่อให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด (Fluid therapy) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจมีการให้ยาระงับการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง การรักษาจึงทำเพื่อประคับประคองและพยุงอาการเท่านั้น สำหรับการการป้องกัน ควรแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เจ้าของแมวที่มีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมว การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวหลายยี่ห้อและยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย คือ ใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆ กันซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเช่นกัน

3. โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว หรือโรคลิวคีเมีย (Feline leukemia virus ; FeLV) เกิดจากการติดเชื้อ feline leukemia virus เป็นโรคติดเชื้อโรคหนึ่งที่มีความสำคัญและพบได้บ่อยในแมว เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อได้ทั้งแมวเลี้ยง รวมทั้งสัตว์ป่าตระกูลแมว การติดเชื้อ FeLV ในแมวสามารถแบ่งเป็นกลุ่มอาการได้ 2 แบบคือ

- เกิดการกดภูมิคุ้มกันในร่างกายส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่างๆแทรกซ้อนได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะเลือดจางเรื้อรัง

- เกิดลักษณะก้อนเนื้องอก ก้อนเนื้อมะเร็ง ตามตำแหน่งต่างๆในร่างกายเช่นในช่องอก ช่องท้องและต่อมน้ำเหลืองต่างๆทั่วร่างกาย

การติดต่อของเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสน้ำลาย ปัสสาวะ น้ำตา หรืออุจจาระของสัตว์ป่วย รวมทั้งการติดเชื้อผ่านจากแม่แมวสู่ลูกแมวในขณะตั้งท้อง ส่วนใหญ่มักพบในแมวที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่นอกบ้าน

แมวเพศผู้มักจะมีอัตราเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากพฤติกรรมที่ชอบออกเที่ยวเป็นต้น โดยภายหลังการติดเชื้อ FeLV ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แมวจะแสดงอาการต่างๆ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุและระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน กินน้ำเยอะปัสสาวะเยอะ เลือดจาง รวมทั้งอาจพบเลือดปนในอุจจาระ มีการติดเชื้อในร่างกายแบบเรื้อรัง มีภาวะดีซ่าน น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต การตรวจวินิจฉัยและการรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เจาะเลือดเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจการทำงานของตับและไต การอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติจากการติดเชื้อด้วยปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน การตรวจด้วยชุดตรวจ FeLV test

อย่างไรก็ดี การรักษาโรคนี้จะเป็นการรักษาตามอาการเพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ โดยให้ยาเพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน การถ่ายเลือดกรณีที่เลือดจางรุนแรง การให้สารอาหารแก่แมวป่วย การให้ยาหรือสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การให้ยาเคมีบำบัดกรณีที่พบการติดเชื้อในรูปแบบเนื้องอกหรือมะเร็ง

การป้องกันการติดเชื้อ FeLV ไม่ควรปล่อยแมวออกเที่ยวนอกบ้านซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับแมวป่วยได้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในกรณีที่เลี้ยงแมวไว้หลายตัวควรแยกแมวป่วยและชองใช้ต่างๆ ออกจากแมวอื่นๆรวมทั้งควรทำความสะอาดพื้นและวัสดุของแมวป่วยอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการป้องกันการแพร่เชื้อสู่แมวตัวอื่น

4. โรคเอดส์แมว (Feline immunodeficiency virus; FIV) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส FIV ในกลุ่ม retrovirus แมวป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์แมวจะมีขบวนการก่อโรคที่คล้ายคลึงกับในคน คือ การกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการที่พบมักแบ่งออกได้เป็นสามระยะคือ ระยะแรก ภายหลังการติดเชื้อในช่วง 2-3 วันหรืออาจนานถึง 1-2 สัปดาห์ แมวจะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีการขยายใหญ่ รวมทั้งมีการลดต่ำลงเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือด ระยะที่สอง ภายหลังจากการแสดงอาการในระยะแรก แมวป่วยที่ได้รับการติดเชื้อมักอยู่ในระยะที่ไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย รวมทั้งสามารถแพร่เชื้อสู่แมวปกติได้ แมวบางตัวสามารถมีอาการอยู่ในระยะนี้ได้นาน และอาจนานถึงหลายปี ระยะสุดท้าย แมวป่วยจะแสดงอาการป่วยที่ไม่ระบุแน่ชัด ขึ้นอยู่กับระบบที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เนื่องจากการลดต่ำลงของระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ระบบการทำงานของอวัยวะที่สามารถพบความผิดปกติได้แก่ ระบบปัสสาวะ ช่องปาก เหงือก ระบบทางเดินหายใจ แมวป่วยมักจะแสดงอาการป่วยเรื้อรังและมีชีวิตได้เพียงไม่นานภายหลังการป่วยระยะนี้

การติดต่อของโรคเอดส์แมวจะผ่านการสัมผัสเลือดหรือน้ำลายของแมวป่วย ส่วนใหญ่มักจะพบในแมวเพศผู้ที่มีพฤติกรรมเที่ยวนอกบ้านและต่อสู้กับแมวตัวอื่นเพื่อแย่งชิงอาณาเขตหรือแมวเพศเมียที่เป็นสัดนอกจากนั้นยังพบการติดต่อของโรคเอดส์แมวผ่านการให้น้ำนมหรือจากแม่แมวสู่ลูกแมวได้ การตรวจวินิจฉัยทำโดยการตรวจเลือดและการตรวจหา antibody ต่อเชื้อไวรัสเอดส์แมวซึ่งปัจจุบันมีการทำในรูปแบบ test kit การตรวจดังกล่าวอาจให้ผลบวกในลูกแมวได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่แมวที่ป่วยด้วยโรคเอดส์แมว ในกรณีนี้ควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งหรือช่วงอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป การรักษาและการป้องกันการรักษาโรคเอดส์แมว เนื่องจากเอดส์แมวเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การใช้ยาต่างๆ สามารถช่วยให้แมวมีอาการทั่วไปดีขึ้นได้ และลดการติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ การดูแลทั่วไปเป็นวิธีสำคัญสำหรับแมวป่วย ควรป้องกันแมวป่วยให้หลีกเลี่ยงการเที่ยวนอกบ้าน การเสริมระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยให้สารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอแก่แมวป่วย เป็นต้น

5. โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis ; FIP) เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม Coronavirus เชื้อไวรัสก่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมวจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคลำไส้อักเสบในแมว หรือ feline enteric coronavirus ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำกว่า เชื้อมีการเกิด mutation และทำให้ก่อความรุนแรงมากขึ้นในแมว โดยทั่วไปเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานประมาณ 3-7 สัปดาห์ รวมทั้งสามารถถูกทำลายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อประเภทต่างๆ การติดเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้อง สามารถพบได้มากในแมวที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง เช่น แมวเด็กและแมวแก่ กลุ่มแมวที่เลี้ยงกันแบบหนาแน่นหรือเกิดความเครียด นอกจากนั้นยังสามารถพบได้ในแมวป่วยด้วยโรคระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่น โรคลิวคิเมีย โรคเอดส์แมว เป็นต้น โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถพบได้ในแมวทุกเพศและสายพันธุ์

สำหรับการติดต่อของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมวนั้น สามารถแพร่ผ่านได้โดยการติดต่อการสัมผัสกันระหว่างแมว หรือการสัมผัสอุจจาระของแมวป่วยที่ใช่กระบะทรายร่วมกัน รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสผ่านวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน และปัจจุบันเชื่อว่าเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถเกิดได้จากการ mutation ของเชื้อ corona เองในตัวแมวเองอีกด้วย ภายหลังการติดเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ การก่อโรคและอาการจะแตกต่างกันไปในแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ เช่น อายุของแมวขณะได้รับเชื้อ ระดับและประเภทภูมิคุ้มกันในร่างกาย สุขภาพทั่วไปขณะที่ได้รับเชื้อ รวมทั้งปริมาณและความรุนแรงของเชื้อไวรัส ที่จะส่งผลให้เกิดลักษณะและรูปแบบของการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ได้แก่ การติดเชื้อเรื้อรังแมวที่ได้รับการสัมผัสเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบและมีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายในระดับที่พอควบคุมโรคได้ แต่เมื่อแมวป่วยด้วยโรคที่ส่งผลยับยั้งระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำให้ก่อโรคและอาการต่างๆ การติดเชื้อแบบแห้ง (Dry form) แมวที่มีภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ในร่างกายค่อนข้างน้อย จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบก้อนในร่างกาย มีการพัฒนาโรคแบบช้าๆ และพบได้หลายตำแหน่ง อาการที่พบการติดเชื้อแบบแห้งมักไม่จำเพาะ ซึ่งได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด

หากมีการอักเสบแบบก้อนในเนื้อเยื่อประสาท เช่นสมอง จะพบว่าแมวป่วยมีอาการด้านระบบประสาท เช่น เดินไม่สัมพันธ์กัน สั่น ชัก หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ หากมีรอยโรคแบบก้อนในช่องท้อง อาจตรวจพบความผิดปกติของการทำงานของตับและไต นอกจากนั้นแมวบางรายอาจพบรอยโรคได้บริเวณนัยน์ตา แมวที่ป่วยด้วยรูปแบบนี้มักจะมีอายุยืนนานกว่าการติดเชื้อแบบเปียก การติดเชื้อแบบเปียก (Wet form) แมวที่มีระดับภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ในร่างกายระดับต่ำมากจะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่มีการคั่งของน้ำในบริเวณทรวงอกและช่องท้อง เนื่องจากการเสียสภาพของเส้นเลือดจึงมีส่วนประกอบของน้ำเลือดรั่วมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว แมวที่ป่วยมักจะมีร่างกายผอม มีไข้ เบื่ออาหาร เลือดจาง ช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น มีน้ำสะสมในช่องท้อง ในแมวบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ในช่องอก แมวที่ป่วยในรูปแบบนี้มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยืนยาวนัก

สำหรับแมวป่วยที่มีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อวินิจฉัยแยกแยะออกจากความผิดปกติอื่นๆ ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานต่างๆของตับและไต การตรวจระดับโปรตีนในกระแสเลือด การเจาะตรวจวิเคราะห์น้ำในช่องอกและช่องท้อง การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจหลายๆวิธีร่วมกัน เป็นต้น สำหรับแมวที่ป่วยด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบควรแยกเลี้ยงจากแมวปกติอื่นๆ รวมทั้งวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ควรนำมาใช้ร่วมกัน ในการรักษาแมวป่วยด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นไม่มีวิธีที่เฉพาะเจาะจง การรักษาโดยทั่วไปกระทำโดยการรักษาตามอาการของแมวป่วย ได้แก่ การเจาะระบายน้ำในช่องท้องหรือช่องอก การให้สารน้ำและสารอาหาร การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การถ่ายเลือดในกรณีที่เลือดจางรุนแรง เป็นต้น

6.โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา หรือ Ringworm เป็นโรคที่พบได้บ่อยกับแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวที่มีขนยาวอย่างเช่นพันธุ์เปอร์เซีย เชื้อราที่ก่อโรคในแมวสามารถเกิดจากเชื้อราชนิดต่างๆคือ Microsporum gypseum, Microsporum canis, Trichophyton mentagrophyte โดยเชื้อรา Microsporum canis จัดเป็นเชื้อราที่ก่อโรคชนิดหลักในแมว เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของแมว รวมถึงบริเวณเล็บและเส้นขน โดยใช้เคอราตินของผิวหนัง เล็บและเส้นขนเป็นอาหารในการเจริญเติบโต ในแมวปกติบางตัวสามารถพบเชื้อราได้บนตัวแมวโดยไม่ก่อให้เกิดรอยโรค ส่วนมากแมวที่อายุยังน้อย แมวแก่ แมวป่วย แมวเครียด มักจะพบความผิดปกติ

ทั้งนี้เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไม่แข็งแรง ปกติแมวทั่วไปสามารถติดเชื้อราก่อโรคได้จากการสัมผัสกับแมวป่วยโดยตรง หรือสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสปอร์ของเชื้อราสามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน รอยโรคหลักๆที่สามารถพบได้คือ ขนร่วงแหว่งเป็นวงกลม ขอบเรียบ บางรายอาจจะสะเก็ดหรือมีอาการคันร่วมด้วย การตรวจวินิจฉัยแยกแยะของโรคเชื้อรานั้นวินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะรอยโรคบนผิวหนัง การตรวจวินิจฉัยตัวอย่างเส้นขนหรือเนื้อเยื่อใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจด้วยแสงฟลูออเรสเซนส์ การเพาะเชื้อรา การรักษาเชื้อราที่ผิวหนังของแมวสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยากินฆ่าเชื้อรา ยาทาเฉพาะที่ ยาจุ่มตัวหรือแชมพูยาฆ่าเชื้อรา การตัดขนแมวให้สั้นระหว่างการรักษา รวมถึงปัจจุบันมีวัคซีนเชื้อรามาใช้ร่วมกับการรักษาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรง รอยโรค อายุของสัตว์ เป็นต้น เชื้อราที่ผิวหนังของแมวจัดเป็นความผิดปกติที่สำคัญ ดังนั้นควรควบคุมโรคโดยการรักษาทั้งบนตัวแมวและทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่แมวอยู่อาศัย เนื่องจากสปอร์เชื้อราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน และที่สำคัญเชื้อราผิวหนังของแมวกลุ่มนี้ยังสามารถติดต่อสู่คนเลี้ยง โดยทำให้คนเลี้ยงสามารถแสดงอาการรอยโรคทางผิวหนังได้

สุดท้ายนี้ คุณหมอได้ฝากไปถึงคนที่เลี้ยงแมวทุก ๆ ท่านว่า นอกจากจะคอยให้น้ำและอาหารแล้ว เจ้าของแมวควรดูแลสุขภาพและหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของน้องเหมียวแสนรักด้วย หากพบความผิดปกติควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และควรพาน้องแมวไปรับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเพื่อนสี่ขาแสนรักของคุณให้แข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น