xs
xsm
sm
md
lg

สลดเด็ก ม.4 ผูกคอตาย ปัญหาใหญ่ของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของพ่อแม่ !/คอลัมน์พ่อแม่ลูกปลูกรัก โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หัวสี ที่สร้างความตกใจให้กับสังคมอีกครั้งไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นพ่อแม่จะสะดุ้งมากเป็นพิเศษ ยิ่งพ่อแม่ที่นิยมขีดเส้นทางให้ลูกเดินด้วยแล้วล่ะก็ ต้องหยุดพินิจอ่านข่าวชิ้นนี้ให้ละเอียด เพื่อเป็นอุทาหรณ์ด้วย

สรุปรายละเอียดของเนื้อข่าวระบุว่า เหตุเกิดที่จังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่พบศพนายเติ้ล (นามสมมติ) อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนชื่อดังใน จ.ขอนแก่น อยู่ในชุดนอนสีน้ำเงินลายขาว ใช้เชือกผ้าม่านผูกคอตายกับหลังคาโรงจอดรถ

นายเติ้ลเป็นลูกคนที่สามของครอบครัว มีบิดาเป็นเจ้าของกิจการไม้แปรรูป ส่วนมารดาทำธุรกิจประกันชีวิต มีสาขาอยู่ใน จ.ขอนแก่น ฐานะครอบครัวเข้าขั้นเศรษฐี โดยนายเติ้ลเป็นเด็กเรียนดี เป็นที่รักของคุณครูและเพือนๆ เก่ง 3 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส เพราะบิดามารดา จ้างอาจารย์พิเศษชาวต่างประเทศมาสอนภาษาที่บ้าน จึงเป็นความหวังของครอบครัว ทำให้นายเติ้ลไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัว มักแอบเล่นเกมออนไลน์ และเกมคอมพิวเตอร์คลายเครียด ตามวิสัยของวัยรุ่นทั่วๆ ไป

ก่อนเกิดเหตุนายเติ้ลอยู่กับพี่สาวเพียง 2 คน จึงแอบเล่นเกม เมื่อพี่สาวเห็นก็เข้าไปต่อว่าและบังคับให้น้องชายมานอนที่ห้องด้วย จะได้ไม่แอบไปเล่นเกม กระทั่งเวลา 08.40 น.พี่สาวตื่นมาก็เห็นน้องชายนอนลืมตาแบบครุ่นคิด แต่ก็ไม่คิดอะไร ได้แต่บอกให้น้องอาบน้ำแต่งตัวไปเรียนพิเศษ รปภ.จะขับรถไปส่ง ซึ่งน้องชายก็รับปากแต่โดยดี กระทั่งผ่านไป 1 ชม.นายเติ้ล ไม่ลงมา พี่สาวจึงขึ้นไปตาม ในช่วงเวลาเดียวกับที่ รปภ.ไปพบว่าผูกคอตายเสียชีวิตแล้ว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ดูผิวเผินก็เป็นข่าวสังคมรายวันที่เกิดเหตุอยู่ทุกวี่วันอยู่แล้ว แต่ข่าวชิ้นนี้สะท้อนสภาพครอบครัวในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และอยากนำมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับพ่อแม่ยุคนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ชนชั้นกลางและมีฐานะทั้งหลายที่ปรารถนาอยากจะให้ลูกเก่ง อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ อยากให้ลูกมีทุกอย่าง แต่สิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยมีให้ลูกเลย ก็คือ เวลา

สภาพสังคมปัจจุบันนับวันยิ่งทำให้สภาพครอบครัวเปราะบางลง หรือเพราะสภาพครอบครัวอ่อนแอลงก็เลยทำให้สภาพสังคมย่ำแย่ ไม่รู้ว่าอะไรเริ่มก่อนกัน แต่ที่แน่ๆ หน่วยของสังคมที่เรียกว่าครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของสังคมภาพใหญ่อย่างแน่นอน และปฏิเสธไม่ได้ว่าว่าครอบครัวล้มเหลวแล้ว สังคมก็ล้มเหลวด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้ามถ้าสภาพครอบครัวเข้มแข็ง สภาพสังคมก็จะเข้มแข็งตามไปด้วยแน่นอน

จริงอยู่ว่าถ้าอ่านจากข่าวแล้ว เราคงไม่สามารถไปสรุปได้หรอกว่าเด็กตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพียงเพราะไม่ได้เล่นเกมออนไลน์ เพราะประเด็นใหญ่น่าจะมาจากปัญหาสะสมมากกว่า เป็นปัญหาสะสมที่ไม่ได้รับการคลี่คลาย และไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากคนในครอบครัว
โดยปกติเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ช่องว่างระหว่างวัยก็เกิดขึ้น ขณะที่พ่อแม่คาดหวังและทุ่มเททุกอย่างที่คิดว่าดีให้ลูก ส่วนลูกก็ปรารถนาให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรับฟังและเข้าใจ แต่ดูเหมือนมันไม่สามารถจูนความเข้าใจกันได้

และสาเหตุที่ไม่สามารถจูนความเข้าใจกันได้ ก็มาจากสัมพันธภาพในครอบครัวเป็นแบบไหน ถ้าเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยเงินมาตลอด จัดสรรให้ทุกอย่าง ลูกเป็นความหวังของพ่อแม่ ให้เรียนอย่างเดียว เรื่องอื่นไม่ต้องมายุ่ง ทั้งยังไม่มีเวลาหรือความใกล้ชิดกัน โอกาสที่เด็กจะสะสมความเครียดก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กรณีนี้เมื่อเด็กถูกแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่มาโดยตลอด ต้องเรียนหนังสือให้ดี เก่งหลายภาษา ในขณะที่ขาดทักษะสังคม ก็ทำให้เด็กเก็บกด สะสมความเครียด แม้จะมีพี่สาว แต่พี่สาวก็ต้องทำหน้าที่ที่พ่อแม่ส่งต่อความคาดหวังมาให้ดูแลน้อง ก็ยิ่งเข้มงวดน้อง เพราะอยากให้น้องได้ดี แต่กลับได้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะเท่ากับน้องก็ไม่สามารถพูดหรือระบายความรู้สึกให้พี่สาวฟังได้ว่ารู้สึกอย่างไร

ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเรียนวิชาการหนัก เด็กที่ขาดสังคมมักจะเลือกเล่นเกมออนไลน์ ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถูกกดดันไม่ให้เล่นเกมออนไลน์อีก อารมณ์ชั่ววูบที่เกิดอาการน้อยใจ เพราะต้องเรียนหนัก แบกความคาดหวังของพ่อแม่ไว้มากมาย ไม่มีโอกาสออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่ติดเพื่อน อยากมีสังคม ก็เลยกลายเป็นเครียดสะสม และเมื่อเก็ดกดอารมณ์เครียดไว้เรื่อยๆ และบ่อยๆ เมื่อถึงจุดระเบิดบวกกับอาการน้อยใจ ก็เลยทำให้เกิดอารมณ์ชั่ววูบคิดสั้นได้

มีข้อสังเกตและคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ต่อกรณีดังกล่าว

ประการแรก เด็กทุกคนจะส่งสัญญาณเตือนให้พ่อแม่เสมอเมื่อมีภาวะความเครียด เพียงแต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะจับสีหน้าหรืออาการต่างๆ ที่ลูกแสดงออกมาได้หรือไม่ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กสามารถจับสังเกตเห็นอาการได้ จะต้องพยายามหาทางให้เด็กได้ผ่อนคลาย หรือได้ระบายความในใจ ไม่ใช่ไปบังคับขู่เข็ญให้เด็กพูด แต่ต้องทำให้เขาผ่อนคลายก่อนและเกิดความไว้วางใจที่จะพูดถึงเรื่องที่ไม่สบายใจ
สำหรับเด็กกลุ่มวัยรุ่น มีความสำคัญมากที่พ่อแม่ต้องมีจิตวิทยาในการพูดคุยกับลูกด้วย ถ้าพ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกมาตั้งแต่เล็ก ปัญหาที่เกิดก็จะน้อยกว่ามาก และลูกก็กล้าที่จะพูดคุยกับพ่อแม่มากกว่าด้วย

ประการที่สอง ยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก ดูว่าลูกของเรามีพื้นฐานนิสัยแบบไหน เป็นเด็กร่าเริง หรือเป็นเด็กเก็บตัว และพยายามส่งเสริมให้เหมาะกับพื้นนิสัยของลูก เช่น ลูกเป็นเด็กไม่ค่อยพูด พ่อแม่ก็ควรจะหมั่นพูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ หรือพาลูกไปร่วมกิจกรรมกับเพื่อนในหลากหลายวัย เพื่อให้ลูกมีทักษะในการเข้าสังคม

ประการที่สาม ส่งเสริมให้ลูกมีความสุขในทุกเรื่อง เช่น เรื่องเรียนหนังสือ ก็ควรส่งเสริมให้เขาเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่ใช่ความทุกข์หรือกดดัน การเรียนรู้ในทุกเรื่อง ต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขจึงจะสัมฤทธิ์ผล สอนให้ลูกเห็นคุณค่าของความสุข พอใจกับความสุข ยินดีกับสิ่งที่ตัวเองทำได้อย่างมีความสุข ถ้าต้องมีการแข่งขัน ก็ต้องให้เด็กได้รับรู้ได้ว่าถึงจะแพ้หรือกดดัน แต่เราก็ควรสร้างความสุขจากตัวเองได้ด้วย ยินดีกับผู้ชนะ แม้วันนี้ยังทำไม่ได้ก็พร้อมที่จะพยายามมากขึ้น

ประการที่สี่ พ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก ไม่ว่าคุณจะมีการงานมากมายก่ายกองขนาดไหน แต่โปรดถามและตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะหาเงินไปมากมายเพื่ออะไร ถ้าตอบว่าเพื่อนลูกแล้วล่ะก็ โปรดถามลูกว่าเขาต้องการเงินหรือเวลาที่อยู่กับคุณมากกว่ากันด้วย
ปัญหาในสังคมปัจจุบันมีมากมายเกินกว่าที่จะบรรยายได้ และนับวันปัญหาก็จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาเดิมยังหมักหมมอยู่ ปัญหาใหม่ก็เปิดแผลสังคมเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ณ ตอนนี้ ในฐานะคนเป็นพ่อแม่ก็คือ การสร้างครอบครัวที่ดี ก็เสมือนเรากำลังช่วยสร้างสังคมที่ดีด้วย

ไม่อยากให้เด็กและเยาวชนต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่อีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่อยากให้ลูกต้องตกเป็นเหยื่อของพ่อแม่ด้วยเช่นกันค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น